สป.อว. จับมือ สวทช. และ มทส. ร่วมแถลงข่าวความสำเร็จการโครงการพัฒนาวิจัยพัฒนาเครื่องเลเซอร์สเปกเคิลคอนทราสต์แบบภาพเพื่อใช้ในการจำแนกไข่ไก่ไม่มีเชื้อสำหรับอุตสาหกรรมการฟักไข่ไก่

ผอ.กปว. พร้อมนักวิจัย MTEC ลงพื้นที่ติดตามกิจกรรมการพัฒนาผลงานเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับเศษเหลือทิ้งจากการผลิตน้ำมันมะพร้าว ณ อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี
สป.อว พร้อมนักวิจัย MTEC และ ม.อ. ลงพื้นที่หารือโครงการพัฒนาเรือนำเที่ยวไฟฟ้าแบบไฮบริด ณ ตำบลแหลมสัก อำเภออ่าวลึก จังหวัดกระบี่

เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2566 สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว) ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ให้การสนับสนุนทุนวิจัย ภายใต้โครงการพัฒนาสร้างเครื่องจักรต้นแบบด้วยกระบวนการวิศวกรรมเพื่อการสร้างสรรค์คุณค่า ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ในฐานะหน่วยงานผู้รับทุน เพื่อส่งเสริมการพัฒนา วิจัยและสร้างนวัตกรรมในการผลิตเครื่องจักรไว้ใช้ภายในประเทศที่เป็นผลงานฝีมือคนไทย ที่สามารถใช้งานในอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงไก่เนื้อของไทย เพื่อทดแทนการลดการนำเข้าจากต่างประเทศ

โดยผู้แทนหน่วยงานนำเสนอผลงาน ได้แก่ คุณจิรวัฒน์ วงษ์สมาน นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ กองส่งเสริมและประสานเพื่อประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สป.อว. และ ผศ.ดร. บุญส่ง สุตะพันธ์ อาจารย์สาขาวิชาวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี นักวิจัยผู้พัฒนาผลงานในโครงการดังกล่าว นำเสนอผลงานต่อผู้สนใจถึงแนวทางการพัฒนา โดยสรุป เป็นการออกแบบเครื่องมือจำแนกไข่ไก่ผสมไม่ติด โดยใช้เทคนิคเชิงแสงแบบเลเซอร์สเปกเคิลคอนทราสต์แบบภาพ (Laser speckle contrast imaging, LSCI) สำหรับใช้ในการคัดแยกไข่ในวันที่ 2 ของการฟัก เพื่อให้ได้ไข่ไก่ที่ยังมีความสด สามารถนำไปจำหน่ายเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้บริษัทผู้ผลิตได้ และลดของเสียชีวภาพในระบบการผลิตลง

โดยเทคนิคเชิงแสงแบบเลเซอร์สเปกเคิลคอนทราสต์แบบภาพ หรือ LSCI เป็นเทคนิคเชิงแสงที่สามารถวัดความเร็วของอนุภาคขนาดเล็กได้ทั่วทั้งภาพ แม้ว่าอนุภาคที่สนใจจะอยู่ลึกใต้พื้นผิว ไข่ที่มีเชื้อจะมีจุดปฏิสนธิในไข่ และพัฒนาเป็นหัวใจและเส้นเลือดหลังจากฟักได้ 2 วัน ภายในหลอดเลือดมีเม็ดเลือดแดงไหลเวียนอยู่ภายใน ทำให้เทคนิค LSCI สามารถถ่ายภาพการไหลเวียนของหลอดเลือดที่อยู่ภายในไข่ได้ ในทางกลับกันไข่ไก่ผสมไม่ติดจะไม่มีเม็ดเลือดแดง ภาพที่ได้จาก LSCI จึงไม่พบภาพเส้นเลือด ทำให้เทคนิคนี้สามารถแยกไข่ไก่ไม่มีเชื้อได้ เมื่อนำภาพไข่ไก่ 2,000 ฟอง ไปสร้างแบบจำลอง Deep learning เพื่อแยกไข่ไก่ไม่มีเชื้อและมีเชื้อพบว่า สามารถแยกไข่ไก่ได้ถูกต้อง 97% โดยใช้เวลาน้อยกว่า 1 วินาทีต่อฟอง โดยผลงานในโครงการจะถูกนำเสนอแก่ภาคเอกชนผู้ร่วมในขั้นการทดสอบการใช้งานจริง และพร้อมรับถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อการนำไปใช้ประโยชน์และร่วมสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจให้แก่กิจกรรมความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนต่อไป

 5,531 total views,  1 views today

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *