รมว.อว. ร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการขับเคลื่อน “ธัชวิทย์” สู่การเพิ่มศักยภาพของประเทศด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ฝ่าคลื่นลมของกระแสการเปลี่ยนแปลงในโลกสู่ประเทศที่พัฒนาแล้ว

ตามหาผลงานนวัตกรรม จากนวัตกรรุ่นเยาว์ทั่วประเทศ โครงการ Thailand Innovation Awards 2023
การแสดงผลงานและประกวดผลงานที่ได้รับการพัฒนา ในโครงการ “การพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์ชุมชน สำหรับผู้ประกอบการประเภทผ้าและเครื่องแต่งกาย” (การเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ผ้าทอล้านนา และอีสานด้วยนวัตกรรม) ณ โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ กรุงเทพ

เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2566 ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมด้วย นายสัมพันธ์ เย็นสำราญ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว., ดร.บุญเกียรติ การะเวกพันธุ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว., ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวง อว., รศ.ดร.พาสิทธิ์ หล่อธีรพงศ์ รองปลัด อว. คณะผู้บริหารหน่วยงานภายใต้กระทรวง อว. และผู้บริหารหน่วยงานอุดมศึกษา ร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การขับเคลื่อน “ธัชวิทย์” สู่การเพิ่มศักยภาพของประเทศ ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กองยุทธศาสตร์และแผนงานและกองส่งเสริมและประสานเพื่อประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) ณ ห้องประชุม กมลทิพย์ 2 ชั้น 2 โรงแรมเดอะสุโกศล ถนนศรีอยุธยา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร.
ศ.(พิเศษ) ดร. เอกนก กล่าวว่า ตลอดระยะเวลาที่ได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. ได้คิดหาวิธีในการขับเคลื่อนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยใช้ยุทธศาสตร์ในระดับกระทรวง ส่งผลให้เกิด “ธัชวิทย์” ขึ้นมาโดยมีความปรารถนาให้ประเทศไทยมีการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ได้อย่างก้าวกระโดด และรวดเร็ว วิทยสถานวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย (Thailand Academy of Sciences : TAS) หรือเรียกว่า “ธัชวิทย์” เป็นศูนย์กลางในการเชื่อมโยงเครือข่ายนักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์ สถาบันวิจัยแห่งชาติ และมหาวิทยาลัยมาทำงานร่วมกัน รวมทั้งการใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีอยู่ เพื่อสร้างประเทศให้มีฐานวิทยาศาสตร์ที่ดี ฐานการพัฒนาคนไทยให้ได้ดี เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในเวทีโลก โดยมีเป้าหมายสำคัญคือการทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วให้ได้ภายในปี 2580 โดยอาศัยแรงขับเคลื่อนจากโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ผ่านทุนทางด้านเศรษฐกิจและโครงสร้างพื้นฐาน ทุนทางสังคมและทรัพยากรมนุษย์ ทุนทางทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่ เพื่อช่วยพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมให้เจริญเติบโตได้อย่างมั่งคั่ง มั่นคง และยั่งยืน โดย“ธัชวิทย์” จะทำหน้าที่ใน 3 บทบาท ที่สำคัญในฐานะเป็น Technical Arms ให้กับภาครัฐ ภาคสังคมและภาคประชาสังคม คือ
1) บทบาทในการตอบสนองต่อปัญหาและความต้องการทางยุทธศาตร์ได้อย่างทันท่วงที (Responsive Role)
2) บทบาทในการเตือนสติสังคมซึ่งเป็นบทบาทเชิงรุก (Proactive Role)
3) บทบาทในการชี้นำสังคม ซึ่งต้องอาศัยองค์ความรู้ระดับแนวหน้าเพื่อคาดการสถานการณ์อนาคต (Predictive Role).
ทั้งนี้ มีความเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่า “ธัชวิทย์” จะทำหน้าที่เป็นองค์กรที่ถือธงนำด้าน ววน. เป็นกลไกขับเคลื่อนด้าน วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ ให้สามารถก้าวข้ามอุปสรรค กับดักต่างๆ รวมทั้งฝ่าคลื่นลมของกระแสการเปลี่ยนแปลงในโลก สู่เป้าหมายการคือการทำให้เป็นประเทศไทยก้าวไปสู่ประเทศที่พัฒนาแล้วต่อไป.
ด้าน รศ.ดร.พาสิทธิ์ กล่าวว่า ตามที่ท่านรัฐมนตรี ได้มอบนโยบาย ให้ สป.อว. จัดตั้ง วิทยสถานวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย หรือ“ธัชวิทย์”เพื่อให้เป็นองค์กรหลักด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ในการที่จะนำพาประเทศไทยไปสู่ประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยจะยกระดับการศึกษาเทคโนโลยีและวิทยาการของประเทศอย่างก้าวกระโดด “ธัชวิทย์” ได้ถือกำเนิดขึ้นเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2565 และได้ดำเนินการตามภารกิจ 3 ด้าน ได้แก่.
1. เป็นคลังความคิดนักวิทย์ (Think Tank) ซึ่งเป็นการนำคนเก่งทั้งในและนอกกระทรวง อว. มาร่วมกันคิดแก้ปัญหาสำคัญของประเทศ
2. การให้นักวิจัยของประเทศมาร่วมกันทำวิจัยในโครงการที่มีผลกระทบต่อประเทศสูงร่วมกัน (Frontier Science)
3. ด้านการผลิตกำลังคน ววน. ชั้นสูง (Future Graduates).
โดยการดำเนินงานทั้ง 3 ด้าน มีการดำเนินการมาอย่างก้าวหน้าและต่อเนื่องตามลำดับ แต่เพื่อให้การขับเคลื่อน “ธัชวิทย์” ดำเนินการอย่างมีระบบมากขึ้น สป.อว. ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 2 คณะ ประกอบด้วย คณะกรรมการอำนวยการฯ เพื่อทำหน้าที่สนับสนุนและให้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย และคณะกรรมการบริหารฯ เพื่อทำหน้าที่ขับเคลื่อนการดำเนินงานของ ธัชวิทย์ ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ บรรลุเป้าหมายตามวัตถุประสงค์ โดยองค์ประกอบของคณะกรรมการ ทั้ง 2 คณะ ประกอบด้วยผู้บริหาร ผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์เกี่ยวกับงานด้าน ววน. ของประเทศ เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการ เพื่อหวังให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศต่อไป

 2,321 total views,  1 views today

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *