อว. MOU กับ 19 มหาวิทยาลัย เปิดหลักสูตรเพิ่มทักษะรองรับงานหลังวิกฤต COVID-19 นำร่อง 8 กลุ่มสาขาอาชีพ ด้วยงบประมาณ 14 ล้านบาท

ดร.สุวิทย์ ปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “COVID-19: THE GLOBAL NEW REALITY” ในงาน (AOWC-2020) ผ่านระบบ ZOOM CONFERENCE
รมว.อว. ประชุมหารือบทบาทของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ การใช้นวัตกรรมฟื้นฟูและยกระดับเศรษฐกิจในพื้นที่

อว.ทำ MOU กับ 19 มหาวิทยาลัย เปิดหลักสูตรเพิ่มทักษะรองรับงานหลังวิกฤต COVID-19 ครอบคลุม 9 ทักษะใน 12 สาขาอุตสาหกรรม

นำร่องใน 8 กลุ่มสาขาอาชีพ ด้วยงบประมาณ 14 ล้านบาท คาดจะพัฒนาได้กว่า 3,000 คน
ในปี 63

          วันนี้ (1 มิถุนายน 2563) ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม รมว.อว.) เป็นประธานการประชุมเพื่อลงนามความร่วมมือ ตามโครงการพัฒนาทักษะกำลังคนของประเทศ (Re-skill, Up-skill, New-skill) ร่วมกับสถาบันอุดมศึกษา 19 แห่ง ในการจัดหลักสูตรประกาศนียบัตร (Non degree) ที่ผ่านการคัดเลือกจาก อว. โดยมี นางสุวรรณี คำมั่น เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาฯ, รศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษาฯ, ดร.อรสา ภาววิมล รองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา, คุณสัมพันธ์ ศิลปนาฎ ประธานกรรมการบริหารโครงการพัฒนาทักษะกำลังคนของประเทศฯ, คณะผู้บริหารผู้บริหารสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว) และผู้บริหารจากสถาบันอุดมศึกษาเข้าร่วมประชุมและร่วมงานออนไลน์ผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศของเครือข่าย UniNet เป็นจำนวนกว่า 100 คน ณ ห้องประชุมศาสตราจารย์ประเสริฐ ณ นคร ชั้น 3 อาคารอุดมศึกษา 1 สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ศรีอยุธยา)

ดร.อรสา รองเลขาธิการฯ กล่าวรายงานถึงโครงการว่า โครงการพัฒนาทักษะกำลังคนของประเทศ หรือ Re-skill, Up-Skill, และ New-skill เพื่อการมีงานทำและการเตรียมความพร้อมรองรับการทำงานในอนาคตหลังวิกฤต COVID-19 มีวัตถุประสงค์ที่จะพัฒนายกระดับศักยภาพคนไทยให้พร้อมทำงานในอนาคตหลังสถานการณ์ COVID-19  ดังนั้น กลุ่มเป้าหมายของโครงการจึงครอบคลุมทั้งผู้ว่างงานที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าว แรงงานคืนถิ่น รวมทั้งกลุ่มกำลังคนในภาคอุตสาหกรรมการผลิตและบริการ ที่จำเป็นต้องยกระดับทักษะชั้นสูงให้สอดคล้องกับโลกในอนาคต ซึ่งในระยะแรก สป.อว. ได้เชิญชวนสถาบันอุดมศึกษาทั้งรัฐและเอกชนในสังกัด จำนวน 24 สถาบัน มาร่วมกันพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรม Non Degree เพื่อที่จะ Re-skill, Up-Skill, และ New-skill ให้กับกลุ่มเป้าหมาย ครอบคลุมหลักสูตรเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของประเทศอย่างเร่งด่วน และได้รับการตอบรับจากสถาบันอุดมศึกษาส่งหลักสูตรเข้ามามากกว่า 400 หลักสูตร

คณะกรรมการบริหารได้พิจารณาคัดเลือกตามเกณฑ์ ประกอบด้วย

1. หลักสูตรที่เสนอต้องตรงกับความเชี่ยวชาญของสถาบันอุดมศึกษา

2. สามารถระบุความต้องการและกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน ผูกโยงกับการได้งานทำ และการทำงานที่มีคุณภาพ

3. หลักสูตรสามารถระบุทักษะที่มีมาตรฐาน พร้อมวิธีวัดและประเมินผล

4. หลักสูตรนั้น ๆ จะต้องมีผู้เข้ารับการอบรมไม่น้อยกว่า 30 คน

5. วิทยากรมีคุณวุฒิและประสบการณ์เพียงพอที่จะจัดศูนย์อบรม ถ่ายทอดความรู้

6. มีอุปกรณ์ เครื่องมือ โครงสร้างพื้นฐานที่เพียงพอต่อการจัดฝึกอบรม

7. มีการประเมินผลเพื่อตรวจสอบคุณภาพ มาตรฐาน ทั้งก่อนและหลังการอบรม

ซึ่งมีหลักสูตรที่ผ่านการพิจารณาทั้งสิ้น 30 หลักสูตร จาก 19 สถาบันอุดมศึกษา หลักสูตรโดยส่วนมากเป็นรูปแบบเรียนฟรี ที่รัฐให้การสนับสนุนงบประมาณ มีเพียงบางหลักสูตรที่อาจจะมีการเก็บค่าใช้จ่าย แต่ไม่เกิน 5% หรือไม่เกิน 1,000 บาท สามารถเริ่มลงทะเบียนได้ตั้งแต่กลางเดือนมิถุนายน 2563 เป็นต้นไป นอกนี้คณะกรรมการบริหารโครงการจะจัดให้มีกระบวนการ Post Audit หลักสูตรเพื่อการรับรอง ซึ่งหลักสูตรที่ผ่านการรับรองนั้น จะได้รับการส่งเสริมให้สามารถสะสมหน่วยกิต เพื่อรับปริญญาที่เป็น Degree ได้ต่อไป อันจะเป็นการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตของคนไทย

ด้าน รศ.นพ.สรนิต ปลัด อว. กล่าวว่า สถาบันอุดมศึกษานำร่องในโครงการที่ผ่านการคัดเลือกจำนวน 19 แห่งนั้น มีมหาวิทยาลัยของรัฐ 17 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, มหาวิทยาลัยมหิดล, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, มหาวิทยาลัยศิลปากร, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ, สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง, สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์, มหาวิทยาลัยบูรพา, มหาวิทยาลัยขอนแก่น, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, มหาวิทยาลัยแม่โจ้, มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสานวิทยาเขตนครราชสีมา, มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์, มหาวิทยาลัยสวนดุสิต, และมีมหาวิทยาลัยเอกชนนำร่อง 2 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยศรีปทุมและมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย โดยโครงการฝึกอบรมที่จะจัดได้ผ่านการพิจารณาคัดเลือกจากกรรมการฯ ของ อว. แล้ว ในหลักสูตรประกาศนียบัตร (Non degree) รวม 30 หลักสูตร จะเน้นเป็นหลักสูตรเพิ่มทักษะรองรับงานหลังวิกฤต COVID-19 ซึ่งสถาบันอุดมศึกษานำร่องจะต้องดำเนินการตามเงื่อนไขภายใต้คุณภาพมาตรฐานตามกฏหมายและเข้าสู่กระบวนการประเมินผลโครงการเพื่อความคุ้มค่าในการใช้จ่ายงบประมาณ โดย สป.อว.จะสนับสนุนงบประมาณรวมทั้งสิ้น 14 ล้านบาท ซึ่งคาดจะพัฒนาคนได้กว่า 3,000 คน ภายในปี 2563

  ดร.สุวิทย์ รมว.อว. กล่าวว่า อว. มีหน้าที่หลักในการพัฒนากำลังคนของประเทศ ดังนั้น อว. จึงต้องเร่งเตรียมความพร้อมให้คนไทยเพื่อรองรับการทำงานในอนาคตหลังวิกฤต COVID-19 ที่จะส่งผลกระทบถึงความเปลี่ยนแปลงทั้งทางเศรษฐกิจ สังคมและวิถีการดำเนินชีวิตคน ด้วยการพัฒนาทักษะกำลังคนของประเทศ (Re-skill, Up-skill, New-skill) เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการพัฒนากำลังคนของประเทศ และเป็นการจัดการศึกษาตลอดชีวิต (Life Long Learning) และรองรับงานใหม่ ๆ ในรูปแบบใหม่ ๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป โดยจะเริ่มจัดอบรมตั้งแต่เดือนมิถุนายนนี้ ซึ่งจะครอบคลุม 9 ทักษะใน 12 สาขาอุตสาหกรรม 8 กลุ่มสาขาวิชาชีพ ได้แก่ (1) Smart Innovative Entrepreneur (2) Smart Farming (3) Care Giver (4) Smart Tourism (5) Data Science (6) Creative content (7) Food for the future และ (8) Robotic/AI

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักมาตรฐานและประเมินผลอุดมศึกษา สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ศรีอยุธยา) โทรศัพท์ 0-2039-5612 โทรสาร 0-2039-5664

 1,913 total views,  1 views today

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *