ดร.สุวิทย์ ปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “COVID-19: THE GLOBAL NEW REALITY” ในงาน (AOWC-2020) ผ่านระบบ ZOOM CONFERENCE

มว. จัดอบรมการใช้งานเทอร์โมมิเตอร์แบบแผ่รังสีอย่างถูกวิธี
อว. MOU กับ 19 มหาวิทยาลัย เปิดหลักสูตรเพิ่มทักษะรองรับงานหลังวิกฤต COVID-19 นำร่อง 8 กลุ่มสาขาอาชีพ ด้วยงบประมาณ 14 ล้านบาท

(28 พฤษภาคม 2563) ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (รมว.อว.) กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “COVID-19: the Global New Reality” สำหรับการประชุมที่ระดมผู้เชี่ยวชาญทั้งจากประเทศไทยและต่างประเทศกับงาน ASAIHL Online World Congress 2020 (AOWC-2020) ผ่านระบบ Zoom Conference ณ ห้องประชุม รมว.อว. ชั้น 22 สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.) ถนนศรีอยุธยา

          ดร.สุวิทย์ (รมว.อว.) กล่าวว่า การระบาดครั้งใหญ่ของ COVID-19 พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าเราคือ“ One World, One Destiny” หากมองวิกฤตเป็นโอกาส โรคโควิด-19 อาจเป็นสิ่งนําโชคในสถานการณ์ที่เลวร้าย ที่เปิดโอกาสให้โลกเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ จาก “โลกที่ไม่พึงประสงค์” เป็น “โลกที่พึงประสงค์” โลกกำลังเรียกหาการปรับกระบวนทัศน์การพัฒนาชุดใหม่ การพัฒนาจากโลกที่มุ่งพัฒนาสู่ความทันสมัย (Modernism) เป็นโลกที่มุ่งพัฒนาสู่ความยั่งยืน (Sustainism) เมื่อผนึกกําลังร่วมกันโครงสร้างเชิงระบบจะถูกปรับ ความคิดฐานรากที่ถูกต้องภายใต้การผนึกกําลังกันจะทําให้เกิด “การบูรณาการในระบบ” เมื่อระบบต่าง ๆ ถูกบูรณาการ “โลกที่ไร้สมดุล” ก็จะค่อย ๆ ถูกปรับเป็น “โลกที่สมดุล” ความเสี่ยงและภัยคุกคามก็จะถูกลดทอนลง

ประชาชนมีสมมติฐานภายใต้ฐานคิดที่ผิด ยังยึดติดกับรูปแบบของ “Ego-Centric” จึงทำให้เกิดผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่าง มนุษย์กับมนุษย์ บทเรียนของโควิด-19 ทําให้มนุษย์ต้องคุ้มครองปกป้องผลประโยชน์ของส่วนรวม หากมนุษย์จะอยู่อย่างปกติสุขอาจจะต้องปรับแนวคิดเป็น “รวมกัน เราอยู่”แทน และระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ แท้จริงแล้วธรรมชาติไม่ใช่เป็นทรัพยากร แต่ธรรมชาติเป็นแหล่งกําเนิดที่ถูกหยิบยืมมาใช้ชั่วคราวและส่งคืนกลับไปโดยต้องเผื่อแผ่ให้คนรุ่นหลังได้ใช้ด้วย ดังนั้น กระบวนความคิด พฤติกรรม ของผู้คนจำเป็นต้องถูกทบทวนให้เป็นไปในทิศทางที่ถูกต้อง มุ่งมั่นพัฒนาไปสู่ความยั่งยืน ตามกลไก 7 ขยับ ปรับเปลี่ยนโลก ดังนี้

1. โมเดลตลาดเสรี (Free Market Model) ที่ใช้กลไกตลาดในการขับเคลื่อน แยกบทบาทระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภคอย่างชัดเจน เปลี่ยนไปสู่ โมเดลร่วมรังสรรค์ (Co-Creative Model) การใช้พลังปัญญามนุษย์ในการขับเคลื่อน เปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการ ผลิต และรังสรรค์นวัตกรรม

2. การผลิตและการบริโภค ที่มุ่งเน้นการแข่งขันให้กับตน (Competitive Mode of Production & Consumption) ใช้แพลตฟอร์มแบบปิด ซึ่งผู้เป็นเจ้าของดำเนินงานบนหลักของการผลิตและขาย แข่งกันผลิต แข่งกันบริโภค ซึ่งควรปรับเป็นการผลิตและการบริโภค ที่มุ่งเน้นการผนึกกำลังความร่วมมือ (Collaborative Mode of Production & Consumption) ใช้แพลตฟอร์มแบบเปิด ทุกกคนมีส่วนร่วม เกื้อกูล และแบ่งปัน

3. มุ่งเน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ (Economic Growth) เน้นการเพิ่มปริมาณการผลิต การบริโภค ให้ความสำคัญกับ การสร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ แต่แท้จริงแล้วควรมุ่งเน้นการพัฒนาที่สมดุล (Thriving in Balance) สร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ ความอยู่ดีมีสุขในสังคม ควบคู่ไปกับความ ยั่งยืนของธรรมชาติ บนรากฐานของภูมิปัญญามนุษย์

4. สร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ (People for Growth) ลดต้นทุนและมุ่งเน้นการเพิ่มผลิตภาพในตัวมนุษย์เป็นสำคัญ โดย สร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการเติบโตของมนุษย์ (Growth for People) ใช้ปัญญามนุษย์ ยกระดับทักษะ เติมเต็มศักยภาพและการมีส่วนร่วม

5. ชีวิตที่ร่ำรวยทางวัตถุ (Economic Life) เต็มไปด้วยการเปรียบเทียบ การแข่งขัน แสวงหาความต้องการแบบไร้จุดหมาย ให้เปลี่ยนไปสู่ชีวิตที่ร่ำรวยความสุข (Balanced Life) สุขภาพกาย สุขภาพใจแข็งแรง ใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นอย่างเป็นปกติสุข เป็นความรุ่มรวยบนความพอดี

6. เศรษฐกิจเส้นตรง (Linear Economy) เป็นเศรษฐกิจที่นำทรัพยากรมาผลิตสินค้า โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม มุ่งหากำไร แต่การปรับเป็นเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) จะช่วยอุดช่องว่างการผลิตแบบ เก่าด้วย นำสิ่งเหลือใช้ กลับมาหมุนเวียนทำประโยชน์ใหม่ มุ่งสู่ความยั่งยืน เน้นประสิทธิภาพการผลิต และประโยชน์สูงสุด

7. การตักตวงผลประโยชน์จากส่วนรวม (Exploitation of the Commons) เอาดีใส่ตัว เอาชั่วใส่คนอื่น แสวงหาประโยชน์จากส่วนรวมมาเป็นส่วนตัว แต่ควรจะเป็นการรักษาผลประโยชน์ของส่วนรวม (Remedy of the Commons) ฟื้นฟู เยียวยา รักษาผลประโยชน์ส่วนรวมเพื่อคนรุ่นหลัง

“อันที่จริงแล้ว “7 ขยับ ปรับเปลี่ยนโลก” ไม่ใช่เรื่องใหม่ ทุกขยับล้วนแล้วแต่ตั้งอยู่บนหลักคิดปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ปัญหาคือพวกเราเพียงแค่ตระหนักรู้ แต่ไม่ได้ลงมือปฏิบัติ ในโลกหลังโควิด มนุษย์จะอยู่รอดได้ พวกเราต้องร่วมกันขยับ เพื่อปรับเปลี่ยนไปสู่โลกแห่งความยั่งยืนอย่างแท้จริง” ดร.สุวิทย์ กล่าว

 55,632 total views,  2 views today

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *