ดร.สุวิทย์ รมว.อว. แนะแนวคิด “ประเทศไทยในระยะเปลี่ยนผ่าน”

เอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทย เข้าเยี่ยมคารวะ ดร.สุวิทย์ รมว.อว. ในโอกาสเข้ารับตำแหน่งที่ประเทศไทย และหารือความร่วมมือด้านวิชาการ
อว. จัดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการวางระบบการประเมินความเสี่ยงต่อการทุจริตประพฤติมิชอบในส่วนราชการ

5 มีนาคม 2563 ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (รมว.อว.) กล่าวบรรยายพิเศษผ่านวิชา (8 – 2) สภาวะแวดล้อมภายในประเทศด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีกับความมั่นคงของชาติ ในหัวข้อ “ประเทศไทยในระยะเปลี่ยนผ่าน” ณ หอประชุมวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.)

          ดร.สุวิทย์ รมว.อว. กล่าวว่า ประเทศไทยกำลังเผชิญกับ “4 กับดัก” ซึ่งหากปล่อยไว้ อาจนำพาประเทศไปสู่ “ชาติที่ล้มเหลว” ได้แก่ 1. การเผชิญกับดักเชิงซ้อนของความเหลื่อมล้ำ ทุจริตคอรัปชั่น และความขัดแย้งรุนแรง ทั้งความเหลื่อมล้ำทางอำนาจ ความมั่งคั่ง และโอกาสที่แตกต่างกัน ซึ่งความเหลื่อมล้ำดังกล่าว ผสมไปด้วยการทุจริตคอรัปชั่น การเป็นอภิสิทธิ์ชนของคนบางกลุ่ม ประเทศไทยจึงเป็นประเทศที่ไม่ Clean & Clear, ไม่ Free & Fair, ไม่ Care & Share และเป็นสังคมที่มีความขัดแย้งอย่างรุนแรง สิ่งสำคัญที่ต้องร่วมกันคิด ร่วมกันสร้างความตระหนัก คือ ทำอย่างไรให้สังคมเกิดความสามัคคีปรองดอง เข้าถึงทรัพยากรอย่างเป็นธรรม และสามารถสร้างความแข็งแกร่งของภาคประชาชนได้ 2. การเผชิญกับวงจรอุบาทว์ทางการเมือง ประเด็นที่สำคัญ คือ ทุก ๆ ประเทศต้องการการป้องครองที่นำไปสู่ความเป็นปกติสุข ซึ่งจำเป็นต้องมีรัฐที่น่าเชื่อถือ มีความชอบธรรม คุณธรรม จริยธรรม มีความรู้ความสามารถ เมื่อมีรัฐที่น่าเชื่อถือ โอกาสที่จะทำให้การเมืองไร้เสถียรภาพก็จะลดลง เสถียรภาพทางเศรษฐกิจก็จะดีขึ้น 3. การเผชิญกับดักเชิงซ้อนของทุนมนุษย์ เป็นกับดักสำคัญที่จะต้องก้าวข้าม ประเทศไทยต้องเผชิญกับสังคมสูงวัย ทำอย่างไรจึงจะเปลี่ยนภาระให้กลายเป็นพลัง ในขณะที่เยาวชนหลุดออกนอกระบบการศึกษาและคนรุ่นใหม่ทิ้งถิ่น ซึ่งกลายเป็นสำคัญของการปฏิรูปการศึกษา การเรียนรู้ พร้อมยกระดับสังคมสูงวัยให้มีคุณภาพ 4. การเผชิญกับดักประเทศที่มีรายได้ระดับปานกลาง ซึ่งประเทศไทยมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในช่วง 50 ปี ไม่เกิน 4 % แต่ ณ วันนี้มีการพัฒนา ปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ จากที่มุ่งขับเคลื่อนด้วยปัจจัยการผลิต เป็นการขับเคลื่อนด้วยประสิทธิภาพการผลิตและนำไปสู่การขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม

“การเติบโตเชิงปริมาณ” ไม่ตอบโจทย์ “การพัฒนาที่ยั่งยืน”

“การเติบโตเชิงคุณภาพ” เท่านั้น จึงจะตอบโจทย์ “การพัฒนาที่ยังยืน”

การปฏิรูปเชิงโครงสร้างอย่างเป็นระบบเท่านั้น ที่จะให้พวกเราสามารถก้าวข้ามกับดักนำพาประเทศไทยไปสู่ประเทศในโลกที่หนึ่ง

กระบวนการทัศน์และหลักคิดที่สอดรับกับศตวรรษที่ 21 เริ่มจากการมีความคิดที่ถูกต้อง เปลี่ยนจากการพัฒนาที่มุ่งไปสู่ความทันสมัย เป็นการพัฒนาที่ไปสู่ความยั่งยืน ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง ให้ความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ ความอยู่ดีมีสุขของผู้คนในสังคม ศักยภาพและคุณค่าของมนุษย์ และการรักษ์สิ่งแวดล้อม ให้อยู่บนพื้นฐานของความสมดุล ความลงตัวและความพอดี โดยหลักคิดที่ถูกต้องจากนี้ไป จะนำไปสู่การสร้างความเข้มแข็งจากภายใน แต่เชื่อมไทยไปสู่ประชาคมโลก พร้อมทั้งเดินหน้าไปด้วยกันโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

          BCG Model : โมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ตอบโจทย์ใน 6 มิติ คือ การต่อยอดจุดแข็งของประเทศไทยที่มีความหลากหลายทางชีวภาพและความหลากหลายทางวัฒนธรรม เชื่อมโยงกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ตอบโจทย์ 10 ใน 17 เป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืน ครอบคลุม 5 ใน 10 อุตสาหกรรม S-Curve กระจายโอกาสและความมั่งคั่งสู่เศรษฐกิจฐานรากและเศรษฐกิจภูมิภาค พร้อมสานพลังมหาวิทยาลัย สถาบันวิจัย ชุมชน เอกชน หน่วยงานภาครัฐและเครือข่ายต่างประเทศ

          โดยกลไกการพัฒนา BCG Model เป็นรูปแบบของ 4 ตัวขับเลื่อน ได้แก่ (1) การพัฒนา 4 สาขายุทธศาสตร์ เกษตรและอาหาร, สุขภาพและการแพทย์, พลังงานและวัสดุชีวภาพ, ท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (2) การเตรียมกำลังคน ผู้เชี่ยวชาญและผู้ประกอบการ (3) การพัฒนาเชิงพื้นที่ (4) การพัฒนาเทคโนโลยีและองค์ความรู้ขั้นแนวหน้า ควบคู่ไปกับ 4 ตัวสนับสนุน ได้แก่ (1) ปลดล็อกข้อจำกัดทางกฎหมายและกฎระเบียบต่าง ๆ (2) โครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญและสิ่งอำนวยความสะดวก (3) การสร้างความสามารถของกำลังคน (4) ยกระดับเครือข่ายพันธมิตรต่างประเทศ

“ประเทศไทยจะเปลี่ยนผ่านจาก Thailand 3.0 ไปสู่ Thailand 4.0 ได้ด้วย BCG Model มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน”

 2,239 total views,  1 views today

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *