เอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทย เข้าเยี่ยมคารวะ ดร.สุวิทย์ รมว.อว. ในโอกาสเข้ารับตำแหน่งที่ประเทศไทย และหารือความร่วมมือด้านวิชาการ

การอบรมการพัฒนาโครงการและการใช้ระบบคลินิกเทคโนโลยีออนไลน์ (CMO) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ วันที่ 2 มีนาคม 2563
ดร.สุวิทย์ รมว.อว. แนะแนวคิด “ประเทศไทยในระยะเปลี่ยนผ่าน”

วันนี้ (4 มีนาคม 2563) H.E. Mr. Allan McKinnon PSM เอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทย และคณะ เข้าเยี่ยมคารวะ ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (รมว.อว.) เพื่อแนะนำตัวในโอกาสที่เข้ารับตำแหน่งที่ประเทศไทยเมื่อเดือนมกราคม 2562 และหารือความร่วมมือ ด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมระหว่างประเทศไทยและออสเตรเลีย โดยมีคณะผู้บริหาร คณะทำงานกระทรวง อว. เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมรัฐมนตรี ชั้น 22 สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ถนนศรีอยุธยา)

สำหรับการพบปะหารือในครั้งนี้ ดร.สุวิทย์ รมว.อว. กล่าวว่า 1. อว. มีนโยบายสนับสนุนการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (Manpower – Brainpower) และดึงดูดผู้ที่มีความสามารถพิเศษ (Talents) ทั้งคนไทยและคนต่างชาติให้เข้ามาร่วมทำงานกับหน่วยงานในประเทศไทย พัฒนาประเทศโดยการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจสู่ Value – Based Economy ตามนโยบายประเทศไทย 4.0 โดยสถานเอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทย สามารถร่วมปฏิรูปงานวิจัยและนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ประเทศ พลิกโฉมสถาบันอุดมศึกษาไทย ตามกลุ่มยุทธศาสตร์ ขับเคลื่อน BCG และสร้างมูลค่าเพิ่มและยกระดับนวัตกรรมไทย ผ่านการนำผู้เชี่ยวชาญจากประเทศออสเตรเลียมาร่วมทำงานกับสถาบันอุดมศึกษาและหน่วยงานไทย หรือการใช้ประโยชน์จากผู้ได้รับทุนรัฐบาลออสเตรเลียทั้งคนไทยและคนออสเตรเลียมาช่วยพัฒนาประเทศตามนโยบายของ อว. เพื่อเป็นสะพานในการเชื่อมความร่วมมือระหว่างสองฝ่าย

2. ด้านการส่งเสริมสถาบันอุดมศึกษาไทยตามกลุ่มสถาบันอุดมศึกษา เชิงยุทธศาสตร์ 4 กลุ่ม (1) การวิจัยระดับแนวหน้าของโลก ผลักดันให้สถาบันอุดมศึกษาผลิตงานวิจัยขั้นสูงหรือผลงานวิจัยระดับนานาชาติ สร้าง Citation/ Publication และ Academic Reputation ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะนำไปสู่เป้าหมายในการให้สถาบันอุดมศึกษาไทยเข้าสู่ 100 อันดับแรกของโลก (2) การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (Technology and Innovation) กับสถาบันอุดมศึกษาออสเตรเลียพัฒนาแนวทางการสร้างความเป็นผู้ประกอบการให้กับนักศึกษา นำองค์ความรู้มาประยุกต์ใช้ สร้างผลงาน พัฒนาผลิตภัณฑ์ ต่อยอดเป็นนวัตกรรม ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และอุตสาหกรรมของประเทศ (3) การพัฒนาชุมชนเชิงพื้นที่ (Area – Based and Community) ส่งเสริมให้เกิดการทำวิจัยที่ตอบสนองความต้องการของชุมชน และเพิ่มการมีส่วนร่วมกับชุมชน (4) การผลิตบุคลากรวิชาชีพสาขาต่าง ๆ (Professional Development) กับสถาบันอุดมศึกษา ออสเตรเลียโดยเฉพาะกลุ่มสถาบัน TAFE (Technical and Further Education)

3. การส่งเสริมให้สถาบันอุดมศึกษาออสเตรเลียเข้ามาจัดการศึกษาในประเทศไทย เพื่อรองรับการพัฒนาพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ส่งเสริมให้สถาบันอุดมศึกษาออสเตรเลียที่ได้รับการจัดอันดับโลกมาจัดการเรียน การสอนในประเทศไทยในหลักสูตร/ สาขาวิชาที่ตรงกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพื่อรองรับกลุ่มอุตสาหกรรมตามเป้าหมายประเทศไทย 4.0 ซึ่งจะนำไปสู่การขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาและการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาประเทศตามนโยบายของรัฐบาล

4. การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่าง อว. กับหน่วยงานของออสเตรเลีย การเชิญผู้เชี่ยวชาญออสเตรเลียมาแลกเปลี่ยนข้อมูลและประสบการณ์แนวปฏิบัติที่ดี เกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ (Online Education) การกำกับดูแลคุณภาพการศึกษาระดับอุดมศึกษา รวมทั้งการทบทวนกรอบคุณวุฒิทางการศึกษาของออสเตรเลีย (Australian Qualifications Framework: AQF) AQF Review

          การแลกเปลี่ยนข้อมูลแนวปฏิบัติที่ดีและการศึกษาข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับปัจจัยสู่ความสำเร็จของ Tertiary Education Quality and Standards Agency (TEQSA) ในการดูแลคุณภาพการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษา โดยเฉพาะการสร้างความรู้ ความเข้าใจ และความตระหนักร่วมกันกับสถาบันอุดมศึกษาในการผลักดันให้เกิดคุณภาพและมาตรฐานของการศึกษาและสถาบันการศึกษา

          การแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับ Provider Registration and International Student Management System (PRISMS) ของประเทศออสเตรเลีย ซึ่งเป็นระบบฐานข้อมูลด้านการศึกษาที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากข้อมูลได้

5. การส่งเสริมความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม การสร้างความร่วมมือในด้านเทคโนโลยีชีวภาพ การแพทย์ เกษตรและอาหารซึ่งประเทศ ออสเตรเลียมีความเข้มแข็งและเป็นสาขาความร่วมมือที่รองรับกลุ่มอุตสาหกรรมตามเป้าหมายประเทศไทย 4.0 การดำเนินความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรมด้านการป้องกันอันตรายจากรังสีและความปลอดภัยทางนิวเคลียร์ ซึ่งสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติมีบันทึกความเข้าใจกับหน่วยงานด้านความปลอดภัยทางนิวเคลียร์และการป้องกันรังสีแห่งออสเตรเลีย (The Australian Radiation Protection and Nuclear Safety Agency – ARPANSA) โดยมีสาระสำคัญเป็นการกำหนดกรอบ เพื่อการแลกเปลี่ยนความร่วมมือทางเทคนิคด้านการป้องกันอันตรายจากรังสีและความปลอดภัยทางนิวเคลียร์ และได้ลงนามเมื่อเดือนกันยายน 2561 ที่ผ่านมา

 67,886 total views,  1 views today

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *