ดร.สุวิทย์ เปิดการประชุมวิชาการเพื่อส่งเสริมการจัดสหกิจศึกษาและการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงาน

นายเพิ่มสุข (หน.ผตร.อว.) เปิดงานโครงการพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์ชุมชนสำหรับผู้ประกอบการรุ่นใหม่ (IGNITE PLUS)
วว. /พันธมิตร ลงพื้นที่วิเคราะห์ความต้องการของชุมชนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม สร้างโอกาสให้เกษตรกร ต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่นด้วยองค์ความรู้วิทยาศาสตร์

(30 มกราคม 2563) ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (รมว.อว.) เป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการเพื่อส่งเสริมการจัดสหกิจศึกษาและการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงาน และการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เพื่อส่งเสริมขับเคลื่อนการดำเนินงานการจัด CWIE และเป็นเวทีให้หน่วยงานของรัฐภาคเอกชน สถานประกอบการ และสถานศึกษา พบปะและแสดงเจตนารมณ์ร่วมกัน ในการผลิตบัณฑิตที่ตรงตามความต้องการของประเทศ โดยมี รศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษาฯ เป็นผู้กล่าวรายงาน พร้อมด้วย นางสุวรรณี คำมั่น เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาฯ, ดร.อรสา ภาววิมล รองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษาฯ, และคณะผู้บริหาร ผู้ประกอบการ สถานศึกษารวมทั้งหน่วยงานพันธมิตร เข้าร่วมประชุม ณ ห้องคอนเวนชั่น ชั้น 4 โรงแรมรามา การ์เด้นส์ ถนนวิภาวดีรังสิต กรุงเทพฯ

 รศ.นพ.สรนิต ปลัดกระทรวง อว. กล่าวว่า การขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์ประเทศไทยให้มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ปัจจัยสำคัญประการหนึ่ง คือ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีคุณภาพ ซึ่งเป็นภารกิจหลักของภาคอุดมศึกษา จากภาวะการณ์ปัจจุบันที่พัฒนาการทางเทคโนโลยีดิจิทัลเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ความต้องการของตลาดแรงงานเปลี่ยนแปลงไป อุดมศึกษาไทยต้องมีการปรับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะการปรับหลักสูตรและการปรับรูปแบบการเรียนการสอนแบบใหม่ เพื่อเตรียมกำลังคนให้มีคุณลักษณะที่สอดคล้อง รองรับความต้องการศตวรรษที่ 21

          กระทรวง อว. ได้พัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการอุดมศึกษา โดยเฉพาะคุณภาพของบัณฑิตให้เป็นผู้ที่มีความรู้ มีทักษะ มีคุณธรรม และจริยธรรม มีคุณสมบัติและสมรรถนะที่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน ทั้งนี้ การจัดสหกิจศึกษาและการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงาน เป็นแนวทางหนึ่งในการพัฒนาบัณฑิตให้มีคุณลักษณะดังกล่าว เพื่อสร้างความมั่นใจแก่สังคม ว่าสถาบันอุดมศึกษาไทยนั้น สามารถพัฒนาองค์ความรู้และผลิตบัณฑิตที่ตอบสนองความต้องการของประเทศและสามารถแข่งขันได้ในระดับโลก

ด้าน ดร.สุวิทย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. กล่าวว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดของการประชุมในครั้งนี้ คือ การหารือถึงการเปลี่ยนแปลง Mindset ของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับ CWIE โดยเฉพาะอย่างยิ่งมหาวิทยาลัย ทางด้านกระทรวงฯ จึงได้ตั้งงบประมาณไว้ 10,250 ล้านบาท สำหรับปี 64 ในการ Reinvent มหาวิทยาลัยครั้งใหญ่ ส่วนหนึ่งคือมหาวิทยาลัยจะต้องตอบโจทย์ประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของมหาวิทยาลัยที่ต้องไปต่อสู้กับโลก มหาวิทยาลัยที่ต้องไปเน้นเรื่องของการพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรม และอุตสาหกรรมต่างๆ มหาวิทยาลัยที่จะต้องไปเน้นเรื่องของการยกระดับพัฒนาพื้นที่ (local economy)

CWIE ในอนาคต จะต้องเป็นการดำเนินงานร่วมกันเสมือนหนึ่ง ต้องมีความมุ่งมั่นตั้งใจเหมือนกัน Chapter 2 ของ CWIE เริ่มด้วยการปรับ mind set ทั้งหมด

1. CWIE ต้องตอบโจทย์ทุก Sector

2. ต้องเป็น International Platform

3. ทำอย่างไรที่จะทำให้บัณฑิตจบออกไปแล้วมีอาชีพหรือสถานประกอบการที่เป็นตัวเลือก

“หน้าที่ของมหาวิทยาลัยและภาคส่วนต่างๆ จำเป็นต้องร่วมกันสร้าง ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ จะทำให้เกิดพลัง ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงประเทศอย่างแท้จริง”

ดร.อรสา ภาววิมล รองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษาฯ กล่าวแนะนำหลักสูตรการเรียนการสอนดังกล่าวว่า Cooperative and Work Intergrated Education (CWIE) คือ หลักสูตรการเรียนการสอนในลักษณะร่วมผลิตระหว่างสถาบันอุดมศึกษาและสถานประกอบการ (ภาครัฐ เอกชน ชุมชน) เพื่อให้บัณฑิตพร้อมสู่โลกแห่งการทำงานจริงได้ทันที มีสมรรถนะตรงกับความต้องการของตลาดงาน สามารถพัฒนาอาชีพในปัจจุบันและเตรียมพร้อมรองรับตำแหน่งงานในอนาคต

สำหรับหลักสูตร CWIE มีแพลตฟอร์มการดำเนินงาน ดังนี้

1. Information คือ การสร้างความรู้ความใจใน CWIE รวมถึงมาตรฐานและประโยชน์ที่เกิดขึ้นกับนักศึกษา สถาบันอุดมศึกษา และสถานประกอบการ เพื่อสร้างการยอมรับและการเข้าร่วมอุดมการณ์

2. Matching คือ กระบวนการสร้างอิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์ม ระบบบริการข้อมูลแบบ one Stop Service ที่ทำให้ภาคผู้ผลิตและภาคผู้ใช้บัณฑิตได้มาเจอกัน

3. Co-designing and Implementation คือ การผลิตบัณฑิตให้มีลักษณะที่ตรงตามความต้องการ มหาวิทยาลัยกับสถานประกอบการต้องมาร่วมกันออกแบบหลักสูตรการเรียนการสอน และกำหนดสิ่งที่เด็กจะได้จากหลักสูตรนั้น ๆ กระบวนการตัวนี้เกิดขึ้นเพื่อสร้างบัณฑิตคุณภาพ

4. Assessment and Development คือ กระบวนการประเมิน เพื่อการพัฒนาปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง ให้เป็นไปตามมาตรฐานที่ตั้งไว้

5. Outreach Activities คือ การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับทั้ง 3 ภาคี ทั้งนักศึกษา มหาวิทยาลัย และสถานประกอบการ การยกระดับนักศึกษา CWIE สู่การเป็นผู้ประกอบการ รวมถึงการพัฒนา CWIE เพื่อยกระดับคุณภาพสถานประกอบการผ่านโจทย์วิจัยเชิงรุก

          โดยภายใน 5 ปี เป้าหมายของการขับเคลื่อน CWIE นั้น มีจำนวนนักศึกษา CWIE เป็น 2 เท่าของจำนวนที่มีอยู่ หรือประมาณ 100000 คน ต่อไปคือทำอย่างไรที่จะสร้างมาตรฐาน CWIE สร้างศักยภาพคนทำ CWIE เพื่อให้เกิด Smart Citizen ซึ่งเด็กเหล่านี้ จะเป็น Global Citizen ในอนาคตของประเทศ เกิดการจ้างงาน เกิดการสร้างงานใหม่ และเกิดการยกระดับ GDP ให้กับประเทศอีกด้วย

 769 total views,  1 views today

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *