ปส. นำทีมบุคลากรดูงานซินโครตรอน ดึงข้อมูลเสริมความปลอดภัยนิวเคลียร์-รังสี ผลักดันความร่วมมือ IAEA อัพเกรดเทคโนโลยีทัดเทียมนานาชาติ

ดร.สุวิทย์ ผลักดัน มศว. เป็นต้นแบบผลิตครู
การประชุมเชิงปฎิบัติการ “การบูรณาการเครือข่าย สป.อว. เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก”

สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) กระทรวงการอุดมศึกษาฯ (อว.) นำคณะบุคลากรศึกษาดูงานศูนย์วิจัย ซินโครตรอน จังหวัดนครราชสีมา มุ่งทำความเข้าใจและประยุกต์ใช้ข้อมูลพัฒนาระบบความปลอดภัยนิวเคลียร์-รังสีของประเทศ พร้อมเป็นหน่วยงานกลางประสานความร่วมมือในการพัฒนาเทคโนโลยีกับทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) ให้ทัดเทียมนานาชาติ หวังช่วยนักวิจัยพัฒนางานสู่ความเจริญก้าวหน้าของประเทศอย่างยั่งยืน

เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2562 นางสาววิไลวรรณ ตันจ้อย เลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ นำคณะบุคลากร และพนักงานเจ้าหน้าที่ของ ปส. จำนวน 50 คน เข้าศึกษาดูงาน ณ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) (สซ.) จังหวัดนครราชสีมา เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจและแนวทางการดำเนินงานเกี่ยวกับเครื่องซินโครตรอน พร้อมนำข้อมูลที่ได้รับไปประยุกต์ใช้และผลักดันให้ผู้ครอบครองและใช้งานเครื่องดังกล่าวสามารถปฏิบัติตามพระราชบัญญัติพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ. 2559 และที่แก้ไขเพิ่มเติมได้อย่างถูกต้อง โดยนางสาววิไลวรรณ เปิดเผยว่า ปัจจุบัน ประเทศไทยมีการติดตั้งเครื่องและผลิตแสงซินโครตรอน (Synchrotron) เพื่อการวิเคราะห์วิจัยข้อมูลเชิงลึกของวัตถุต่าง ๆ ในระดับอะตอมและโมเลกุล ซึ่ง ปส. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลความปลอดภัยจากพลังงานนิวเคลียร์ จึงประสานร่วมกับ สซ. เพื่อเข้าศึกษาดูงานและรับทราบข้อมูลที่เกี่ยวข้อง โดยได้รับเกียรติจากศาสตราจารย์นาวาอากาศโท ดร.สราวุฒิ สุจิตจร ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) ให้การต้อนรับ

นางสาววิไลวรรณ กล่าวต่อไปว่า การศึกษาดูงานในครั้งนี้ยังจะนำไปสู่ความร่วมมือระหว่าง ปส. และ สซ. ในการดำเนินงานภายใต้โครงการความร่วมมือด้านเทคนิค (Technical Cooperation (TC) programme) ของ IAEA ซึ่ง สซ. ได้ยื่นเสนอโครงการระยะ 2 ปี เพื่อขอรับการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีเครื่องซินโครตรอนให้มีศักยภาพ สามารถรองรับการพัฒนาและงานวิจัยทางเทคนิคและวิทยาศาสตร์ขั้นสูงได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งขณะนี้โครงการดังกล่าวได้รับการตอบรับให้การสนับสนุนจาก IAEA เป็นที่เรียบร้อย และมีกำหนดเริ่มดำเนินการในเดือนมกราคม 2563 เป็นต้นไป ปส. ในฐานะหน่วยงานประสานงานกลางของประเทศมุ่งมั่นเดินหน้าให้ความช่วยเหลือและเชื่อมโยงข้อมูลที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง เพื่อผลักดันการพัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าวไปสู่ความสำเร็จตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ โดยคาดว่า เมื่อโครงการเสร็จสิ้นนักวิจัยของไทยจะสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีซินโครตรอนได้อย่างเต็มศักยภาพ รวมทั้งสามารถพัฒนางานด้านต่าง ๆ อันจะนำไปสู่ความเจริญก้าวหน้าของประเทศอย่างยั่งยืนได้ในอนาคตอันใกล้

 886 total views,  1 views today

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *