รมว.อว. องค์ปาฐกในการประชุมสมาคม ATPAC ประจำปี 2562

อว. รวมพลัง..อาสาสู้โกง เข้าร่วมงาน “วันต่อต้านคอร์รัปชัน 2562”
การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ฯ จับมือ มหาดไทย นำระบบ BIG DATA มาใช้บริหารจัดการสิ่งแวดล้อมเมืองและชุมชน

6 กันยายน 2562 : ดร. สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้รับเชิญจากสมาคมนักวิชาชีพไทยในสหรัฐอเมริกาและแคนาดา (The Association of Thai Professionals in America and Canada: ATPAC) เป็นประธานและองค์ปาฐกในการประชุมวิชาการของสมาคม ATPAC และการประชุมสมาคมนักเรียนไทยและนักเรียนทุน พสวท. ประจำปี 2562 ณ เมืองซีแอตเทิล มลรัฐวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 100 คน ประกอบด้วย ผู้แทนหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน นักวิชาชีพไทยในสหรัฐอเมริกาและแคนาดา นักศึกษาไทยที่กำลังศึกษาอยู่ในสถาบันอุดมศึกษาของสหรัฐอเมริกาที่มาศึกษาโดยทุนรัฐบาลไทย ทุนส่วนตัว และทุนจากหน่วยงาน/มหาวิทยาลัยของไทยและต่างประเทศ

การประชุมครั้งนี้ จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมให้นักวิชาชีพและนักศึกษาไทยที่กำลังศึกษาอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกาและแคนาดา ได้มีโอกาสรับฟังยุทธศาสตร์ชาติและนโยบายการพัฒนาประเทศไทย 4.0 การแลกเปลี่ยนเรียนรู้และพัฒนาแนวทางความร่วมมือกับผู้แทนจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนจากประเทศไทย เพื่อสร้างกลไกสำคัญในการถ่ายทอดองค์ความรู้ นวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูงจากภูมิภาคอเมริกาและแคนาดากลับมายังประเทศไทย รวมทั้งมีเป้าหมายในการก่อตั้งสมาคมนักเรียนไทยในสหรัฐอเมริกาและแคนาดา (The Thai Student Association in America and Canada) เพื่อเป็นช่องทางในการติดต่อ ประสานงานและรับทราบข้อมูลข่าวสารสำคัญของประเทศไทย

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาฯ กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “ประเทศไทย 4.0 ภารกิจและนโยบายของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม” ชี้ให้เห็นถึงความตั้งใจของรัฐบาลในการจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 อย่างเป็นรูปธรรม ในส่วนการบริหารจัดการกระทรวงใหม่จะต้องทำการปลดล็อครูปแบบการทำงาน 3 ด้าน คือ การบริหารจัดการจากระบบราชการเดิมให้ทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น การปรับเปลี่ยนกฎระเบียบที่ล้าสมัยหรือมีข้อจำกัดต่อการพัฒนา และการเปลี่ยนรูปแบบการจัดสรรงบประมาณแบบเดิม ให้สามารถบริหารจัดการงบประมาณได้อย่างต่อเนื่อง มีความยืดหยุ่นมากขึ้น และมีการจัดตั้งกองทุน เพื่อให้การใช้จ่ายงบประมาณเป็นเครื่องมือสะท้อนผลการปฏิบัติงานอย่างเป็นรูปธรรม โดยใช้กลไกการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศทั้งด้านกำลังคน(Manpower) พลังสมอง(Brainpower) และการดึงดูดคนเก่งจากต่างประเทศให้กลับเข้ามาพัฒนาประเทศไทยหรือโครงการสมองไหลกลับ(Reverse Brain Drain) ที่มีภารกิจสำคัญ 3 ด้าน คือ การพัฒนาคนไทยให้เป็น Smart Citizen การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยสู่ Value-Based Economy และการเปลี่ยนประเทศไทยสู่ Innovation Nation       

นอกจากนั้นผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานไทย ประกอบด้วย สอวช. วช. สป.อว. สวทช. และ สสวท ได้ร่วมกันตอกย้ำความสำคัญของการพัฒนากำลังคนของประเทศซึ่งเป็นพันธกิจสำคัญของกระทรวงการอุดมศึกษาฯ ประกอบด้วย

นโยบายเชิงกลยุทธ์ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ในการปฎิรูประบบ อววน. ที่มี 4 แพลต์ฟอร์ม 16 โครงการ คือการพัฒนากำลังคนและสถาบันความรู้ การวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ท้าทายของสังคม การวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน และการวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่และลดความเหลื่อมล้ำ

เส้นทางอาชีพของนักวิจัยที่มาร่วมสร้างงานวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาของประเทศใต้โครงการ Grand Challenge ที่มุ่งเป้าให้มีงบประมาณเพื่อสร้างงานวิจัย พัฒนาและนวัตกรรมให้ได้ร้อยละ 1.5 ของ GDP การสร้างการวิจัยและพัฒนาให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ประเทศ การบูรณาการการทำงานกับหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และการสร้างแรงบันดาลใจในการทำวิจัย

ทิศทางการสร้างบัณฑิตยุคประเทศไทย 4.0 เพื่อเตรียมความพร้อมของนักศึกษาให้เป็นคนเก่ง มีงานทำ และเป็นผู้ประกอบการ เพื่อเตรียมทักษะความพร้อมสำหรับการประกอบอาชีพในอนาคตโดยใช้แพลต์ฟอร์มการส่งเสริมการสร้างบัณฑิตให้พร้อมสู่การทำงาน และการนำงานวิจัยไปพัฒนาผลิตภัณฑ์ภายใต้โครงการบ่มเพาะวิสาหกิจสำหรับผู้ประกอบการ

ทิศทางของการวิจัยและพัฒนาเพื่อสนับสนุนนโยบายประเทศไทย 4.0 เพื่อตอบภารกิจกระทรวงการอุดมศึกษาฯ และโจทย์การพัฒนาประเทศ

การศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อผลักดันประเทศไทย ๔.๐ ที่มีเป้าหมายสำคัญ ได้แก่ ระดับการวิจัยและพัฒนาจากร้อยละ 0.25 เป็น 4.0 สัดส่วนนักวิจัยต่อประชากรจาก 12 ต่อ 10,000 เป็น 25 ต่อ 10,000 มหาวิทยาลัยติดอันดับ 100 แห่งแรกของโลกจำนวน 5 แห่งและมีนักวิทยาศาสตร์ไทยได้รับรางวัลโนเบลอย่างน้อย 1 คน ในปี 2575

ทั้งนี้ผู้แทนของภาครัฐและภาคเอกชน ได้แก่ ผู้แทนสมาคม ATPAC ศูนย์การศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ บริษัทSCG และ Chevron ร่วมถ่ายทอดความรู้ ประสบการณ์ และนำเสนอข้อมูลของหน่วยงานในการพัฒนาประเทศไทยอย่างยั่งยืน รวมทั้งบทบาทของภาคเอกชนในการพัฒนาประเทศและโอกาสงานที่มั่นคง

โอกาสนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาฯ ได้เปิดเวทีให้มีการแสดงความคิดเห็น หารือร่วมกัน และตอบข้อซักถามของนักศึกษาไทยในประเด็นต่างๆ เช่น แนวทางการทำงานที่ประเทศไทยหลังสำเร็จการศึกษาเพื่อสามารถนำองค์ความรู้ในสาขาที่มีความเชี่ยวชาญที่แตกต่างมาใช้พัฒนาประเทศให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลอย่างเป็นรูปธรรม ชมการจัดแสดงผลงานวิจัยของนักศึกษาที่กำลังศึกษาอยู่ในสถาบันชั้นนำในสหรัฐอเมริกา และมอบรางวัลการจัดทำระบบฐานข้อมูลและการสื่อสารสำหรับนักเรียนไทยในอเมริกา.

     

 609 total views,  1 views today

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *