เลขาธิการ กกอ. ย้ำให้สถาบันอุดมศึกษาต้องปรับตัวเตรียมรับความท้าทายในอนาคต

ดร.สุวิทย์ฯ รมว.อว. มอบนโยบาย “การบริหารงานอุดมศึกษา ภายใต้การกำกับดูแลของ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม”
อพวช. รับช่วงต่อ “น้องมาเรียม” สตัฟฟ์เพื่อการศึกษา ผลักดันการอนุรักษ์สัตว์ทะเลก่อนนำเป็นกรณีศึกษาแก่ประชาชน

24 สิงหาคม 2562 ศาสตราจารย์สัมพันธ์ ฤทธิเดช เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “การปรับตัวของสถาบันอุดมศึกษาไทยในยุคปัจจุบัน” ในการประชุมวิชาการและเสนอผลงานวิจัยระดับชาติ ครั้งที่ 2 หัวข้อ “ระเบียบ สามัคคี บําเพ็ญประโยชน์ ตามหลักพุทธศาสตร์ พัฒนาชาติอย่างมั่นคง” ณ หอประชุม มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย วิทยาเขตร้อยเอ็ด จังหวัดร้อยเอ็ด โดยมี อาจารย์ นักวิจัย บุคลากรและนักศึกษาเข้าร่วมงานกว่า 200 คน

เลขาธิการ กกอ. กล่าวในตอนหนึ่งว่า ปีการศึกษาล่าสุดที่นั่งในระบบอุดมศึกษาเหลืออยู่กว่าแสนที่ แต่ไม่มีคนเข้าเรียน ในขณะที่รายได้ในการบริหารมหาวิทยาลัยกว่า 90% มาจากค่าลงทะเบียนเรียนของนักศึกษา เมื่อไม่มีนักเรียนที่จะเข้าสู่ระบบการศึกษา มหาวิทยาลัยจะทำอย่างไร นี่คือจุดเริ่มต้นของความอ่อนล้าของอุดมศึกษาไทยที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เรามีปัญหาอย่างมากในการผลิตคนในระดับอุดมศึกษา ซึ่งไม่ตรงกับความต้องการของผู้ใช้ ผลิตคนออกไปแล้วแต่เมื่อทำงานจริงยังตอบโจทย์ของผู้ใช้งานไม่ได้

สภาพปัญหาในปัจจุบันที่สถาบันอุดมศึกษาจะต้องเจอ คือ 1. คนเกิดน้อยลงขาดนักเรียนที่จะถูกป้อนเข้าสู่ระบบ 2. ขาดการพัฒนากำลังคนที่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก ผู้ประกอบการต้องการสมรรถนะที่ตอบโจทย์ของเขา ไม่จำเป็นต้องอาศัยจำนวนหน่วยกิต 3. หลักสูตรการเรียนการสอนยังไม่พัฒนา อาจารย์ต้องเปลี่ยนมุมมอง สร้างหลักสูตรตามผู้เรียนหรือผู้ใช้ประโยชน์ ปรับเนื้อหาให้ทันการเปลี่ยนแปลง 4. ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ต้องคิด ต้องทำ และต้องไปให้เร็ว 5. แนวโน้มแรงงานในภาคเกษตร อุตสาหกรรม และบริการการท่องเที่ยว เมื่อคนเกิดน้อยลง แรงงานก็ลดลง สิ่งกระทบคือการนำเข้าแรงงานจากต่างประเทศเข้ามา จะทำอย่างไรให้เกิดดุลยภาพ และ 6. ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและยุคดิจิทัล AI จะเข้ามาแทนคน คนที่จะอยู่ได้คือคนที่รู้เรื่อง AI หากการศึกษาเข้ามาเสริมไม่ทัน เทคโนโลยีและยุคดิจิทัลจะฉุดกระชากแบ่งระดับคนออกจากกันโดยสิ้นเชิง นี่คือโจทย์ที่อุดมศึกษาต้องหาทางแก้ไข

“รูปแบบของการเรียนการสอนที่เปลี่ยนแปลงไป อาจารย์ต้องปรับตัวให้เป็นผู้เรียนร่วม ไม่ใช่ผู้สอน ต้องแบ่งปันประสบการณ์ ช่วยแก้ปัญหา เรียนรู้ร่วมกันกับผู้เรียน ออกแบบการเรียนรู้ อำนวยความสะดวกในการเรียน ให้นักศึกษาเรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติจริง เรียนรู้จากประสบการณ์ โดยมีอาจารย์เป็นที่ปรึกษา การเรียนรู้เกิดจากคำถาม หน้าที่ของอาจารย์คือต้องสร้างเงื่อนไข ส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ นำไปสู่การสร้างนวัตกรรมเพื่อพัฒนาประเทศ ที่สำคัญต้องเปิดรั้วมหาวิทยาลัยไปสู่ชุมชน เพื่อลดความเลื่อมล้ำ เปิดโอกาสให้ชุมชน ประชาชนเข้ามาใช้ประโยชน์ภายในมหาวิทยาลัยให้ได้” เลขาธิการกกอ. กล่าวในตอนท้าย

 1,377 total views,  1 views today

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *