ดร.สุวิทย์ฯ รมว.อว. มอบนโยบาย “การบริหารงานอุดมศึกษา ภายใต้การกำกับดูแลของ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม”

22 สิงหาคม 2562 – ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
เลขาธิการ กกอ. ย้ำให้สถาบันอุดมศึกษาต้องปรับตัวเตรียมรับความท้าทายในอนาคต

วันนี้ (25 สิงหาคม 2562) ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (รมว.อว.) พร้อมด้วย รศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ปอว.) และ ศ.สัมพันธ์ ฤทธิเดช เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เข้ามอบนโยบาย “การบริหารงานอุดมศึกษา ภายใต้การกำกับดูแลของ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม” ในการประชุมสามัญที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย และการประชุมสามัญสมาคมที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ครั้งที่ 4/2562 และการประชุมสามัญสมาคมสถาบันการศึกษาขั้นอุดมแห่งภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ประจำประเทศไทย (สออ. ประเทศไทย) ครั้งที่ 2/2562 ณ หอประชุมเบญจรัตน์ อาคารนวมินทรราชินี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.)

ดร.สุวิทย์ รมว.อว. กล่าวว่า กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) เป็นกระทรวงใหม่ล่าสุดที่จัดตั้งขึ้น ซึ่งภารกิจที่มีไม่ใช่แค่การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าหรือตอบโจทย์ปัจจุบัน แต่มีบทบาทหลักในการวางรากฐานประเทศสู่อนาคต โดยเป็นกลไกขับเคลื่อนประเทศสู่ประเทศที่พัฒนาแล้ว อว. จะต้องช่วยกันผลักดัน 3 พันธกิจหลัก เพื่อตอบโจทย์ 3 ภารกิจดังกล่าว นั่นคือ 1. การสร้างและพัฒนาคน ให้เป็น Smart Citizen จะทำอย่างไรที่จะเปิดโอกาสได้อย่างเท่าเทียม “ในการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ” ซึ่งไม่ใช่เพียงทำให้เยาวชนเก่งขึ้น แต่ต้องลดช่องว่างทางสังคม ไม่ว่าจะเรียน Track ไหน ก็เป็น Smart Citizen ได้ และไม่ใช่แค่การมีงานทำ แต่สามารถแข่งขันในเวทีโลกได้ พร้อมกับการปลูกฝังลักษณะนิสัยที่พร้อมรับมือกับโลกในศตวรรษที่ 21/ 2. การสร้างและพัฒนาองค์ความรู้ ไปสู่ระบบเศรษฐกิจที่เน้นคุณค่า (Value Based Economy) จะบูรณาการงานวิจัยทั้ง 3 ศาสตร์ (วิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์) ให้เป็นการวิจัยที่มีขีดความสามารถ ครอบคลุมทั้งนวัตกรรมธุรกิจ นวัตกรรมสังคม และนวัตกรรมชุมชน และ 3. การสร้างและพัฒนานวัตกรรม ไปสู่ประเทศฐานนวัตกรรม (Innovation Nation) จะแปลงนวัตกรรมเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจและคุณค่าทางสังคม เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและความสุขของประชาชนอย่างยั่งยืน

สถาบันอุดมศึกษาถือเป็น “Future Changer” เป็นตัวหลักในการเตรียมพร้อมคนไทยสู่ศตวรรษที่ 21 เป็นกลไกขับเคลื่อนการปฏิรูปโครงสร้างสู่เศรษฐกิจที่เน้นคุณค่า และเป็นฟันเฟืองสำคัญในการปรับเปลี่ยนสู่ประเทศฐานนวัตกรรม ปัจจุบัน ระบบอุดมศึกษามีปัญหาอยู่หลายเรื่องที่จำเป็นต้องแก้ไข เพื่อให้สามารถเป็นหัวจักรขับเคลื่อนประเทศได้จริง ดร.สุวิทย์ฯ ชี้ว่า ได้จัดตั้งคณะทำงานพิเศษขึ้นมา 3 ชุด ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ได้แก่

1. คณะทำงานด้านตำแหน่งวิชาการและความก้าวหน้า มีหน้าที่ศึกษาแนวทางการปรับระเบียบการขอตำแหน่งวิชาการให้ทันสมัย ตอบโจทย์การขับเคลื่อนประเทศ และเป็นสากล รวมถึงศึกษาความก้าวหน้าของนักวิจัยในสถาบันวิจัย เพื่อกระตุ้นให้อาจารย์และนักวิจัยทำงานวิจัยร่วมกัน ทำงานกับภาคเอกชนและชุมชน ท้องถิ่นมากขึ้น โดยจะต้องลดขั้นตอนความยุ่งยากที่ไม่จำเป็นในการขอตำแหน่งวิชาการลง

สิ่งแรกที่จะปลดล็อก เช่น การยกเลิกการแบ่งเปอร์เซ็นต์การมีส่วนร่วมในผลงานวิจัย ซึ่งเป็นแนวคิดที่ล้าสมัย ไม่ส่งเสริมให้อาจารย์ นักวิจัยทำงานร่วมกัน หรือการกำหนดว่าผลงานที่ทำมาก่อนได้ตำแหน่งหนึ่งจะเอามาขอตำแหน่งต่อๆ ไปไม่ได้ หรือที่เรียกว่าผลงานมีระยะเวลาเน่าเสีย เป็นต้น โดยในเบื้องต้นจะปลดล็อกข้อจำกัดเหล่านี้ผ่าน ก.พ.อ. ที่กำลังจะตั้งขึ้นเร็วๆ นี้ คาดว่าจะใช้เวลาไม่นาน และหลังจากนั้นคณะทำงานจะวางระบบการขอตำแหน่งวิชาการที่สอดคล้องกับที่กล่าวมาข้างต้น

2. คณะทำงานด้านกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษา (มคอ.) มีหน้าที่ศึกษาแนวทางการปรับ มคอ. ให้เน้นผลสัมฤทธิ์ของการปฏิบัติงานที่สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาอุดมศึกษาของประเทศ การประกันคุณภาพหลักสูตรที่เป็นสากลและกระชับ ลดขั้นตอนความยุ่งยากหรือการกรอกข้อมูลที่ไม่จำเป็นอันเป็นภาระของอาจารย์หรือผู้บริหารหลักสูตร

เบื้องต้น ปอว. ได้เสนอแนวทางไว้หลายข้อ เช่น เรื่อง มคอ. 3-6 ซึ่งหากมหาวิทยาลัยไม่จำเป็นต้องทำก็สามารถยกเลิกได้ทันที ส่วนมหาวิทยาลัยแห่งไหนเห็นว่ามีความจำเป็นอยู่ก็ให้ปรับให้กระชับและลดภาระการกรอกสิ่งที่ไม่จำเป็น ไม่ได้เอาไปใช้ประโยชน์ออก คงเฉพาะสาระสำคัญซึ่งเรื่องนี้ก็เคยแจ้งแก่มหาวิทยาลัยไปแล้วแต่จะสื่อสารให้ชัดเจนอีกครั้ง นอกจากนี้เรื่องการรับทราบหลักสูตรที่แต่เดิม สกอ. ใช้เวลานานในการรับทราบก็จะให้กระทรวงฯ ดูเฉพาะความครบถ้วนของหัวข้อต่างๆ ส่วนเนื้อหาก็เป็นความรับผิดชอบของสภามหาวิทยาลัยที่พิจารณามาอย่างถี่ถ้วนแล้ว โดยกำหนดให้ใช้เวลาที่กระทรวงฯ ไม่เกิน 1 สัปดาห์

3. คณะทำงานด้านคุณภาพอุดมศึกษา จะดูภาพใหญ่ของอุดมศึกษาทั้งระบบ มีหน้าที่ศึกษาและเสนอแนวทางการแบ่งกลุ่มประเภทของสถาบันอุดมศึกษาตามจุดเน้น และความเข้มแข็ง ของแต่ละสถาบันที่เคยแจ้งไปแล้ว รวมถึงกลไกการใช้ระบบคุณภาพที่เน้นผลสัมฤทธิ์ของการปฏิบัติงานของสถาบันอุดมศึกษาตามความถนัดของแต่ละสถาบัน เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนประเทศตามแนวทางที่แต่ละมหาวิทยาลัยถนัด ตลอดจนผลักดันมหาวิทยาลัยเข้าสู่ 100 อันดับแรกของโลก เรียกว่าสนับสนุนให้มหาวิทยาลัยทำตามความถนัดของตน

ในส่วนของคุณภาพของการปฏิบัติงาน ได้มีการนำระบบ OKR (Objective and Key Results) มาใช้ในการตั้งเป้าใหญ่ๆ และเน้นที่ผลลัพธ์สำคัญๆ ซึ่งในระดับกระทรวงและการสนับสนุนให้มหาวิทยาลัยได้นำไปใช้แทนการใช้ KPI เดิมที่เน้นการกำหนดตัวชี้วัดแบบ top-down นั้น ได้ดำเนินการไปแล้วส่วนหนึ่ง นอกจากนี้อีกเรื่องที่สำคัญมาก คือเรื่องของธรรมาภิบาลมหาวิทยาลัย ที่มีปัญหาเป็นอย่างมาก ซึ่งเรื่องนี้ ได้มอบหมายให้ผู้ที่รับผิดชอบดำเนินการศึกษา เพื่อหาแนวทางที่จะทำให้ระบบการบริหารมหาวิทยาลัยมีธรรมาภิบาลอย่างแท้จริง จะทำให้มหาวิทยาลัยสามารถเข้าไปสู่ศตวรรษใหม่และสามารถตอบโจทย์ของประเทศ ตามที่รัฐบาลได้ตั้งความหวังไว้ต่อไป

 57,343 total views,  2 views today

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *