ปลัดสรนิต แจงความคืบหน้าและนโยบายการจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

ฮีทสโตรก
ประชุมการพัฒนาสับปะรดแบบครบวงจรด้วย วทน.

29 เมษายน 2562 รศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวถึง พระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (Ministry of Higher Education Science Research and Innovation) หรือ อว. ว่า อว. มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการส่งเสริม สนับสนุน และกำกับการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ การวิจัยและการสร้างสรรค์นวัตกรรม เพื่อให้การพัฒนาประเทศเท่าทันการเปลี่ยนแปลงโลก โดยมีความเป็นอิสระทางวิชาการและการบริหารจัดการ ให้มีการพัฒนากำลังคนสอดคล้องกับความต้องการของประเทศ และดำเนินการวิจัยและสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อพัฒนาชุมชน สังคมและประเทศ ทั้งทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และ สหวิทยาการ ซึ่งเน้นไปที่ 3 ด้านพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบไปด้วย พ.ร.บ. ด้านสภานโยบาย เป็นการปรับระบบบริหารจัดการภาครัฐให้มีเอกภาพ คล่องตัวและผลสัมฤทธ์, พ.ร.บ. ด้านการอุดมศึกษา เพื่อเพิ่มความสะดวกแก่สถาบันอุดมศึกษาในการทำงานร่วมกับภาคธุรกิจ การหมุนเวียนบุคลากร การถ่ายทอดเทคโนโลยี การริเริ่มสร้างสรรค์หลักสูตรใหม่และการจัดการศึกษารูปแบบใหม่ และ พ.ร.บ. ด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อสร้างองค์ความรู้และสนับสนุนการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ในเชิงเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งการพัฒนากำลังคน เพื่อให้เกิดการพัฒนาประเทศอย่างสมดุลและยั่งยืน โดยมีส่วนราชการดังต่อไปนี้ สำนักงานรัฐมนตรี สำนักงานปลัดกระทรวง กรมวิทยาศาสตร์บริการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ซึ่งขณะนี้การพิจารณาเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติและกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องนั้น อยู่ในระหว่างการเสนอโปรดเกล้าฯ และประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้กฎหมายมีผลบังคับใช้ต่อไป

          กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จะขับเคลื่อนระบบนวัตกรรมแห่งชาติเพื่อตอบโจทย์การพัฒนาประเทศให้เกิดผลสัมฤทธิ์ มีเป้าหมายหลักในการเตรียมสังคมและคนไทยเพื่อเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 ยกระดับการพัฒนากำลังคนของประเทศให้มีทักษะและสมรรถนะอย่างสูง การขับเคลื่อน Thailand 4.0 การสร้างระบบการส่งเสริมและการยกระดับงานวิจัย และการสร้างเศรษฐกิจฐานนวัตกรรม เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาประเทศโดยประเด็นการพัฒนาที่สำคัญ ได้แก่ มหาวิทยาลัย 4.0, Startup, Smart SMEs, อุตสาหกรรมเป้าหมาย, EEC, Food Innopolis, การพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน, ดิจิทัลแพลตฟอร์ม, Smart OTOP เป็นต้น ทั้งหมดที่กล่าวข้างต้นนี้ เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนทางยุทศศาสตร์ของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมอันจะนำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน การลดความเหลื่อมล้ำและกระจายโอกาส การพัฒนาทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนและการพัฒนาศักยภาพคนไทยและความมั่นคงในสังคม

          ทั้งนี้ ครม. ได้มีมติแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยมีการแต่งตั้งคณะทำงานขึ้น 3 ชุด ได้แก่ คณะทำงานกำกับการจัดโครงสร้างและอัตรากำลังของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงฯ คณะทำงานกำกับการเตรียมการจัดตั้งกระทรวงฯ และคณะทำงานพัฒนาระบบและแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพกระทรวงฯ เพื่อเตรียมความพร้อมในการจัดตั้งกระทรวงใหม่เมื่อกฎหมายถูกประกาศใช้แล้ว สิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึง คือ การปรับเปลี่ยนโครงสร้างของกระทรวง ที่จะมีการปรับเปลี่ยนบทบาทหน้าที่ในบางหน่วยงาน เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของภาครัฐที่ต้องการขับเคลื่อนประเทศด้วยงานวิจัยและนวัตกรรม เพื่อให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลมากที่สุด

   รศ.นพ.สรนิต กล่าวปิดท้ายว่า ในช่วงเดือนพฤษภาคมนี้ จะมีการจัดโครงการประกวดออกแบบตราสัญลักษณ์ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ซึ่งต้องรอติดตามเกณฑ์การประกวดต่างๆ โดยเกณฑ์ที่ต้องมีแน่ๆ คือ ต้องมี 3 สีหลัก ได้แก่

1. สีส้ม สีประจำวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว “พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย”/

2. สีม่วง เป็นสีประจำวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว องค์ผู้ให้กำเนิดการอุดมศึกษาของประเทศ โดยทรงยกฐานะโรงเรียนข้าราชการพลเรือนของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขึ้นเป็น “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” สถาบันอุดมศึกษาแห่งแรกของคนไทย/ และ

3. สีเหลือง สีประจำวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช “พระบิดาแห่งเทคโนโลยีของไทย” และ “พระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย” และเป็นสีที่สื่อถึงความเป็นวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้วย

 1,171 total views,  1 views today

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *