สป.อว. MTEC และ TMA ลงพื้นที่เพื่อติดตามโครงการพัฒนาสร้างเทคโนโลยีดิจิตอลกับการบริหารขยะโรงพยาบาล ณ ศูนย์โครงการกำจัดขยะมูลฝอยเทศบาลเมืองสุพรรณบุรี

สป.อว ร่วมเป็นคณะกรรมการตัดสินโครงการเส้นทางสู่นวัตวณิชย์ (Research to Market : R2M 2023) ครั้งที่ 11 ระดับภูมิภาค ประจำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดขอนแก่น
MTEC และ สป.อว. ร่วมกับเทศบาลนครรังสิต ทดสอบการใช้งานต้นแบบเรือกวาดเก็บกระทง ผลงานพัฒนาภายใต้โครงการสร้างเครื่องจักรต้นแบบด้วยกระบวนการวิศวกรรมเพื่อการสร้างสรรค์คุณค่า

เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566 นายจิรวัฒน์ วงษ์สมาน นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการพิเศษ ในฐานะผู้แทนกองส่งเสริมและประสานเพื่อประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พร้อมด้วยผู้แทนศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ในฐานะหน่วยบริหารจัดการโครงการ นำคณะกรรมการและคณะทำงานในโครงการสร้างเครื่องจักรต้นแบบด้วยกระบวนการวิศวกรรมเพื่อการสร้างสรรค์คุณค่า เข้าพบคณะผู้แทนสมาคมเครื่องจักรกลไทย ในฐานะหน่วยงานผู้รับทุนอุดหนุนเพื่อดำเนินโครงการพัฒนาสร้างเทคโนโลยีดิจิตอลกับการบริหารขยะโรงพยาบาล ณ ศูนย์โครงการกำจัดขยะมูลฝอยเทศบาลเมืองสุพรรณบุรี ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ร่วมประสานการดำเนินโครงการโดย บริษัท เทอร์ม เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ในฐานะสถานประกอบการสมาชิกสมาคมเครื่องจักรกลไทย และภาคเอกชนในการนำผลงานไปขยายผลสู่เชิงพาณิชย์และภาคธุรกิจ ตามแนวทางการนำผลงานจากการวิจัยและพัฒนาไปประยุกต์ใช้งานจริงในสถานประกอบการ หรือ technology adoption phase ที่ได้กำหนดไว้ในแผนงาน

โครงการพัฒนาสร้างเทคโนโลยีดิจิตอลกับการบริหารขยะโรงพยาบาล เป็นโครงการที่มีการทำงานบางส่วนต่อเนื่องกับโครงการพัฒนาสร้างเครื่องเพิ่มประสิทธิภาพการเผาไหม้ของโรงไฟฟ้าขยะชีวมวล ซึ่งเป็นการดำเนินงานร่วมกับสมาคมเครื่องจักรกลไทย แล้วเสร็จเมื่อช่วงกลางปี พ.ศ. 2566 ที่ผ่านมา ที่มีส่วนสนับสนุนกระบวนการจัดการขยะมูลฝอยและขยะติดเชื้อภายในเทศบาลจังหวัดสุพรรณบุรีให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นอย่างเป็นระบบ ด้วยความร่วมมือกับสมาคมเครื่องจักรกลไทยที่ต้องการมีส่วนร่วมในการพัฒนาและนำเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องจากผู้ประกอบการไทยไปสู่การใช้งานจริงและสามารถขยายผลได้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งศูนย์โครงการกำจัดขยะมูลฝอยเทศบาลเมืองสุพรรณบุรี นับเป็นสถานีบริการและจัดการขยะที่มีความทันสมัย มีความต้องการยกระดับกระบวนการจัดการขยะติดเชื้อจากโรงพยาบาลให้มีมาตรฐานด้วยระบบตรวจติดตาม หรือ tracking ผ่าน mobile application ที่ช่วยให้การใช้งานมีความสะดวกและรวดเร็วจากเทคโนโลยีดิจิตอล และการ scan QR code เพื่อแจ้งและติดตามสถานะ เพื่อการรายงานข้อมูลได้บนโทรศัพท์มือถือ ในระบบตามรอยขยะติดเชื้อ หรือ infectious waste tracking ที่มุ่งเน้นเพื่อทราบและระบุที่มาของกลุ่มขยะติดเชื้อในกรณีที่อาจจำเป็นต้องสอบทานข้อมูลเพิ่มเติมหรือตรวจสอบย้อนกลับสำหรับขยะติดเชื้อที่ได้รับจากโรงพยาบาลในพื้นที่เทศบาลจังหวัดสุพรรณบุรี

โดยในการตรวจติดตามครั้งนี้ เป็นการตรวจติดตามความก้าวหน้าขั้นกลางของโครงการ ระบบการทำงานของผลงาน เริ่มมีการใช้งานในระดับการทดสอบการใช้งานจริงมาแล้วระยะเวลาหนึ่ง เพื่อติดตามความต้องการเพิ่มเติมจากผู้ใช้งาน และรวบรวมข้อเสนอแนะ หรือ feedback สำหรับการแก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งโดยรวมผลการดำเนินงานมีความคืบหน้า การทำงานของผลงานและการใช้งาน ณ ตอนนี้ จากการประเมินในเบื้องต้นพบว่าเป็นที่พอใจ และช่วยให้ศูนย์โครงการกำจัดขยะมูลฝอยเทศบาลเมืองสุพรรณบุรี ได้รับข้อมูลที่มีความละเอียดมากขึ้น ซึ่งเพียงพอต่อการพัฒนากระบวนการจัดการขยะติดเชื้อจากโรงพยาบาลได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โครงการดังกล่าว มีกำหนดแล้วเสร็จในเวลาไม่เกิน 6 เดือนจากนี้ ซึ่งกองส่งเสริมและประสานเพื่อประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จะได้นำเสนอผลงานการพัฒนาที่เสร็จสมบูรณ์จากโครงการสู่สาธารณะ

 2,851 total views,  1 views today

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *