http://www.ttc.ops.go.th/wp-content/uploads/2022/06/เปลี่ยนดินแห้งแล้งด้วย-THERMO-LOCK-HYDROGEL.mp4
ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ มีผลงานวิจัยนวัตกรรมไฮโดรเจลควบคุมระดับความชุ่มชื้นของดิน โดยศาสตราจารย์ ดร.สุวบุญ จิรชาญชัย ที่ได้รับทุนสนับสนุนในโครงการวิจัยปั้นดาว ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานโครงการพัฒนาบัณฑิตศึกษาและวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กองส่งเสริมและประสานเพื่อประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กปว.) สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.)
ในปัจจุบันประเทศไทยมีสภาพภูมิอากาศที่ร้อนขึ้นมากอันเนื่องมาจากผลกระทบจากสภาวะโลกร้อนที่เป็นวิกฤตการณ์ทั่วโลก ส่งผลกระทบต่อภาคเกษตรกรรมที่ต้องอาศัยคุณภาพความชุ่มชื้นของดินเป็นปัจจัยสำคัญของผลิตผลทางการเกษตร ในขณะที่อากาศมีอุณหภูมิสูงและมีช่วงฤดูแล้งที่ยาวนาน (พฤศจิกายน-เมษายน) ประกอบกับภัยแล้งที่เกิดขึ้นสลับในช่วงฤดูฝน ทำให้ดินมีแนวโน้มที่จะแห้งแล้ง ส่งผลต่อการผลิตพืชสวน พืชไร่ และพืชที่มีมูลค่าเพิ่มสูง เช่น ไม้ดอก ไม้ประดับ กว่าทศวรรษที่ผ่านมา เจลดูดน้ำเพื่อให้ความชุ่มชื้นคงอยู่ในดิน ได้ถูกพัฒนาขึ้นจากระดับห้องปฏิบัติการถึงการผลิตในระดับอุตสาหกรรม และเริ่มเป็นที่แพร่หลายและยอมรับในการใช้งานจริง เช่น ผลิตภัณฑ์ MOASIS ของสหรัฐอเมริกา (www.moasisgel.com) ผลิตภัณฑ์ไบโอ 100 ที่ตอบโจทย์การช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นแก่ดิน
อย่างไรก็ตาม เจลในลักษณะดังกล่าว จะมีการปลดปล่อยความชื้นเมื่ออุณหภูมิสูง ทำให้เจลมีแนวโน้มที่จะหดตัวและแห้งได้ในเวลาที่รวดเร็ว จึงเป็นข้อจำกัดของผลิตภัณฑ์ที่มีการใช้ในภาคสนาม งานวิจัยนี้ จึงได้เสนอนวัตกรรมเทอร์โมล็อคไฮโดรเจลที่มีการรัดตัว ที่อุณหภูมิสูง เพื่อลดระดับการคายน้ำในสภาวะอุณหภูมิสูง ซึ่งจะทำให้เจลช่วยให้ความชุ่มชื้นในดินได้อย่างต่อเนื่อง ส่งเสริมให้พืชได้น้ำอย่างสม่ำเสมอและเจริญเติบโตได้ แนวคิดในการแก้ปัญหานี้ทำได้โดยการห่อหุ้มเจลดูดน้ำด้วยพอลิเมอร์ที่ตอบสนองความร้อน (hermoresponsive polymers) ที่มีการรัดตัวเข้าหากันเกิดอันตรกิริยาซึ่งกันและกันที่อุณหภูมิสูง ที่เรียกว่า Lower Critical Solution Temperature (LCST) ซึ่งเป็นการใช้ศาสตร์ด้านพอลิเมอร์ในการพัฒนาเจลดูดน้ำให้ตอบโจทย์การรักษาน้ำในเจลให้ระเหยได้ช้าแม้ว่าอุณหภูมิแวดล้อมจะสูง นวัตกรรมไฮโดรเจลสามารถกักเก็บน้ำได้อย่างรวดเร็ว สามารถนำไปใช้ในการควบคุม
การกักเก็บและปลดปล่อยน้ำของดิน ณ อุณหภูมิและสภาพแวดล้อมที่ต้องการได้ ส่งผลต่อเนื่องให้ผลผลิตทางการเกษตรมีปริมาณเพิ่มขึ้น มีคุณภาพสูง ทำให้สามารถแก้ปัญหาภาคการเกษตรช่วงฤดูร้อนได้เป็นอย่างดี
#ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ
#สำนักงานโครงการพัฒนาบัณฑิตศึกษาและวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
#กองส่งเสริมและประสานเพื่อประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม
#สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม
#MHESI #PERDO #PETROMAT #CoE
2,374 total views, 2 views today