สอวช. เผยผลสำรวจผลกระทบที่ภาคเอกชนได้รับจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ปิ๊งไอเดีย ต่อยอดข้อมูลทำ SME TRANSFORMATION – ด้านแนวทาง RESKILL / UPSKILL ผ่านฉลุย พร้อมส่งต่อ สป.อว. เดินเครื่องเต็มสูบ

สอวช. ร่วม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ คิกออฟ “โครงการจัดทำต้นแบบนโยบายเมืองปลอดภัย” ชูกลไก “TIPA” เป็นเครื่องมือเปลี่ยนความฝันสู่นโยบายที่จับต้องได้
อว. ลงพื้นที่การพัฒนาสร้างห้องอบระบบลมร้อน สำหรับถุงมือผ้าเคลือบน้ำยางธรรมชาติ ณ จ.สุราษฎร์ธานี

เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2563 สํานักงานปลัดกระทรวง อว. – สอวช. เผยผลสำรวจผลกระทบที่ภาคเอกชนได้รับจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า หรือ COVID-19 ในการประชุมคณะกรรมการอํานวยการ สอวช. ครั้งที่ 3/2563 โดยมี ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม นั่งเป็นประธาน ปิ๊ง ไอเดีย ต่อยอดข้อมูลจากผลสำรวจทำเรื่อง SME Transformation ปรับโฉม SMEs ยุคใหม่ ด้วยองค์ความรู้ด้าน อววน. สร้างความเข้มแข็งธุรกิจไทยรับมือกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี และสถานการณ์โรคอุบัติใหม่ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

ในการคณะกรรมการอํานวยการ สอวช. ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. ได้เปิดเผยผลสำรวจผลกระทบที่ภาคเอกชนได้รับจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า หรือ COVID-19 โดยในเบื้องต้นมีผู้ประกอบการตอบแบบสำรวจแล้วประมาณ 100 ราย โดยส่วนใหญ่พบว่า รายได้จากการประกอบธุรกิจลดลงกว่าร้อยละ 50 และมีการลดการจ้างงานเพื่อพยุงธุรกิจให้อยู่รอด ทั้งนี้ จากการสำรวจพบว่า ประเด็นที่เป็นอุปสรรคในการทำธุรกิจ คือ ด้านการตลาด เช่น การถูกยกเลิกสินค้า และจำนวนผู้บริโภคลดลง อุปสรรคด้านการเงิน เช่น เงินหมุนเวียนในช่วง 3-6 เดือนข้างหน้ามีแนวโน้มไม่เพียงพอจากต้นทุนแรงงาน ต้นทุนการผลิตหรือรายได้ลดลง รวมถึงอุปสรรคด้าน Supplier ที่ไม่สามารถผลิตหรือส่งวัตถุดิบจากประเทศที่มีการแพร่ระบาดได้ และจากอุปสรรคในการประกอบธุรกิจข้างต้น ผู้ประกอบการเอกชนต้องการการสนับสนุนจากภาครัฐ ทั้งทางด้านการเงิน เช่น เงินอุดหนุน เงินกู้ การสนับสนุนด้านการลดหย่อนภาษี เช่น ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีนำเข้าสินค้า เครื่องจักร เป็นต้น การสนับสนุนการเข้าถึงตลาด การสนับสนุนด้านเทคโนโลยี เช่น การนำระบบดิจิทัลไปช่วยธุรกิจ การสนับสนุนด้านการให้คำปรึกษาด้านธุรกิจ การผลิต การบริการ รวมถึงการฝึกอบรมพัฒนาทักษะของลูกจ้าง เป็นต้น อย่างไรก็ตาม เมื่อถามถึงการพัฒนากำลังคนในสถานประกอบการผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรต่าง ๆ เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือด้านกำลังคนหลังสถานการณ์ COVID-19 คลี่คลาย พบว่า ผู้ประกอบการมีความต้องการพัฒนากำลังคนผ่านการอบรมหลักสูตรเกี่ยวกับการวิจัยตลาด การตลาดยุคใหม่ การบริหารสินค้าคงคลัง การพัฒนาสินค้าใหม่ให้เป็นไปตามความต้องการของตลาดและเทรนด์ใหม่ๆ การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การขายออนไลน์ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ข้อมูลข้างต้นเป็นเพียงผลการสำรวจเบื้องต้นในระยะเวลาสั้น สอวช. จะดำเนินการเก็บข้อมูลต่อเนื่องเพื่อให้ได้จำนวนผู้ประกอบการที่สามารถอ้างอิงถึงความต้องการของผู้ประกอบการโดยรวมทั้งประเทศ เพื่อนำมาเป็นข้อมูลในการออกแบบนโยบายที่จะสร้างความเข้มแข็งให้ผู้ประกอบการไทยด้วยองค์ความรู้ด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) ต่อไป

ด้าน ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า การสำรวจดังกล่าวเป็นแนวทางที่ดีที่จะไปสู่การทำเรื่อง SME Transformation แต่ต้องมีการเก็บข้อมูลอีกมาก เพื่ออ้างอิงการออกนโยบายสนับสนุน ซึ่งการทำเรื่อง SME Transformation จะช่วยในการปรับโฉม SMEs ยุคใหม่ ด้วยองค์ความรู้ด้าน อววน. ในการรับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี หรือแม้แต่สถานการณ์โรคอุบัติใหม่ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ถือเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับภาคธุรกิจในการรับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ

ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. ยังเปิดเผยถึงความก้าวหน้าในการดำเนินการจัดทำแผนส่งเสริมการพัฒนากำลังคนของประเทศ (Manpower Planning) ว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. ได้มีข้อสั่งการให้เร่งรัดจัดทำทักษะเพื่ออนาคต (Future Skill Mapping) ที่เป็นที่ต้องการของอุตสาหกรรมเป้าหมายให้ครบทั้ง 12 อุตสาหกรรม เพื่อเป็นแนวทางสำหรับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องใช้ในการพัฒนารูปแบบการสนับสนุนการยกระดับทักษะ รวมทั้งการจัดทำโปรแกรมพัฒนาความรู้และความสามารถของบุคลากรในรูปแบบที่เหมาะสมต่อไป เช่น คูปองสนับสนุนการฝึกอบรมสำหรับ SME รวมทั้งการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับการฝึกอบรมในสาขาที่เป็นไปตามความต้องการของประเทศ และการจ้างงานบุคลากรในสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโลโนยีและวิศวกรรม และในระยะต่อไปจะมีการพัฒนาระบบสนับสนุนเพื่อเตรียมความพร้อมสู่การจัดทำระบบธนาคารหน่วยกิต (Credit Bank) เพื่อรองรับระบบการศึกษาตลอดชีวิต (Lifelong Learning) ทั้งนี้ ในส่วนของการดำเนินการจัดทำทักษะเพื่ออนาคต สอวช. ได้ดำเนินการจัดทำรายละเอียดของทักษะเพื่ออนาคต (Future Skills Set) ของอุตสาหกรรม S-Curve แล้วเสร็จ 5 กลุ่ม คือ อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ อุตสาหกรรมดิจิทัล อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร และอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ และอยู่ระหว่างจัดทำรายละเอียดทักษะเพื่ออนาคตของอุตสาหกรรม S-Curve เพิ่มเติมอีก 7 กลุ่ม คือ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ อุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ อุตสาหรรมแปรรูปอาหาร อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ และอุตสาหกรรมการศึกษาและพัฒนาทักษะ ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณเดือนเมษายน โดย สอวช. จะประสานส่งต่อไปยังสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดทำมาตรการสนับสนุนในทางปฏิบัติต่อไป

 1,269 total views,  1 views today

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *