อว. ร่วมกับหน่วยงานภาคที่เกี่ยวข้อง จัดกิจกรรม OTOP สัญจร สร้างความรู้ ความเข้าใจ ในการยกระดับ OTOP ด้วย วทน. พื้นที่เป้าหมาย จ.สมุทรสงคราม และ จ.สมุทรสาคร

งานดนตรีไทยอุดมศึกษา ครั้งที่ 44 “ดุริยะกฤติยาธร 75 ปี ศิลปากรเฉลิมวัฒน์”
อว. – กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ สาธารณรัฐประชาชนจีน ร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ใน 11 สาขา 5 รูปแบบ ทั้งเกษตร การแพทย์ พลังงาน การบินและอวกาศ “ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์” เผยต้องนำความรู้ระดับสูงจากต่างประเทศมาต่อยอดประยุกต์ให้เหมาะสมกับ ประเทศไทย

(30 ตุลาคม 2562) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักส่งเสริมและถ่ายทอดเทคโนโลยี (สส.) ร่วมกับหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้อง จัดกิจกรรมสร้างความรู้ ความเข้าใจ
ในการยกระดับ OTOP ด้วย วทน. (กิจกรรม OTOP สัญจร) พื้นที่เป้าหมายจังหวัดสมุทรสงครามและจังหวัดสมุทรสาคร เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจให้กับผู้ประกอบการโอทอปในการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) พัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพ มาตรฐาน และตรงตามความต้องการ
ของตลาด และคัดเลือกผู้ประกอบการที่มีศักยภาพ สามารถดำเนินงานตามแนวทาง “คูปองวิทย์เพื่อโอทอป” เข้าสู่กิจกรรมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้วย วทน. ใน 6 ด้าน ได้แก่ วัตถุดิบ กระบวนการผลิต นวัตกรรมผลิตภัณฑ์ มาตรฐาน บรรจุภัณฑ์และเครื่องจักรในการผลิต ต่อยอดสู่การยกระดับด้วย วทน. ในเรื่องการตลาด การเงิน การเข้าสู่ระบบรับรองมาตรฐาน พร้อมสร้างช่องทางการตลาดให้กับผู้ประกอบการและผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาขึ้น โดยได้รับเกียรติจาก นายเพิ่มสุข  สัจจาภิวัฒน์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (หน.ผตร.อว.) เป็นประธานเปิดงาน พร้อมด้วย
นายวงเทพ เขมวิรัตน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสงคราม กล่าวต้อนรับ และ ผศ.เฟื่องฟ้า เมฆเกรียงไกร รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร (มทร.พระนคร) กล่าวรายงานถึงการดำเนินโครงการ ณ โรงแรมริเวอร์ตัน อัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม

นายเพิ่มสุข หน.ผตร.อว. กล่าวว่า การพัฒนาผู้ประกอบการและยกระดับสินค้าโอทอปด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) เป็นงานที่สำคัญงานหนึ่งของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมและเป็นงานสำคัญของรัฐบาลตามแผนงานบูรณาการการพัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งกระทรวงการอุดมศึกษาฯ ได้ร่วมกับเครือข่ายสถาบันการศึกษาและหน่วยงานในสังกัด นำผลงานวิจัยและองค์ความรู้ด้าน วทน. ที่เหมาะสม ไปใช้ประโยชน์ผ่านกระบวนการถ่ายทอดเทคโนโลยี
ทั้งด้านอาหาร เครื่องดื่ม สมุนไพรที่ไม่ใช่อาหาร เทคโนโลยีการพัฒนาสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ตลอดจนของใช้ ของประดับตกแต่งและของที่ระลึก เพื่อการสร้างสรรค์นวัตกรรมและเพิ่มศักยภาพให้กับผู้ประกอบการ ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์โอทอปให้ได้คุณภาพ มาตรฐานตามที่กฏหมายกำหนดไว้ สร้างความเข้มแข็งในการพัฒนากลุ่มและเครือข่ายชุมชน รวมทั้งการพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์ เพื่อให้ได้รับการยอมรับ
ซึ่งผลแห่งความสำเร็จนี้จะทำให้ผู้ประกอบการโอทอป และเศรษฐกิจฐานรากของไทยก้าวสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน รวมถึงการมีรายได้ เกิดการสร้างงาน และเกิดนวัตกรรมจนเป็นที่รู้จักในตลาดทุกระดับ

ด้านนายวงเทพ รองผู้ว่าราชการ จ.สมุทรสงคราม กล่าวว่า การพัฒนาอาชีพและชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ ถือเป็นหนึ่งประเด็นที่จังหวัดให้ความสำคัญมาโดยตลอด รายได้ของประชาชนในพื้นที่ นอกเหนือจากการเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมนั้น การส่งเสริมและสนับสนุนการผลิตสินค้าโอทอป
ของผู้ประกอบการก็เป็นประเด็นสำคัญอย่างหนึ่งที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลผลิตและสร้างรายได้ให้แก่ประชาชนในพื้นที่ โดยเน้นการพัฒนาสินค้าโอทอปด้วยนวัตกรรม ใช้เสน่ห์ ภูมิปัญญา วิถีชีวิต วัฒนธรรม และความคิดสร้างสรรค์ แปลงเป็นรายได้ ถือเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนและเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากอย่างแท้จริง โดยหวังว่าการจัดกิจกรรมโอทอปสัญจรในวันนี้ จะประสบความสำเร็จ และนำมาซึ่งการสร้างประโยชน์แก่ประชาชนของ จ.สมุทรสงคราม และ จ.สมุทรสาคร และเกิดการบูรณา
การงานด้าน วทน. ร่วมกันเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืน

ผศ.เฟื่องฟ้า รองอธิการบดี มทร.พระนคร กล่าวว่า กิจกรรม OTOP สัญจรเป็นกิจกรรมภายใต้โครงการ
ภายใต้แผนบูรณาการการพัฒนาและส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก จัดเป็นครั้งที่ 2 ของปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ซึ่งกำหนดจัดทั้งหมด 3 ครั้ง พื้นที่เป้าหมาย 6 จังหวัด ได้แก่ พิจิตร สมุทรสงคราม สมุทรสาคร นครนายก ปราจีนบุรีและฉะเชิงเทรา ภายใต้แผนการดำเนินงานโครงการพัฒนาสินค้าผลิตภัณฑ์ชุมชน
ซึ่งดำเนินการโดยสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษาฯ ร่วมกับหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้อง ในการนำความรู้ด้าน วทน. มาพัฒนาวัตถุดิบต้นน้ำ นวัตกรรมผลิตภัณฑ์ กระบวนการผลิต มาตรฐาน บรรจุภัณฑ์ เครื่องจักรในการผลิต ตามแนวทางคูปองวิทย์เพื่อโอทอป รวมไปถึงการต่อยอดในด้านการเงิน ทุนสนับสนุน และการตลาด เพื่อให้ผู้ประกอบการโอทอป สามารถพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ให้ตรงตามความต้องการของตลาด สร้างความแตกต่าง เพิ่มมูลค่า และเข้าสู่การแข่งขันในตลาดระดับต่างๆ ได้ด้วย วทน.

ต่อมาในช่วงบ่าย เป็นกิจกรรม STI for OTOP Upgrade Matching การแบ่งกลุ่มให้คำปรึกษาเชิงลึก
แก่ผู้ประกอบการโอทอปในพื้นที่ จ.สมุทรสงคราม และ จ.สมุทรสาคร ที่มาร่วมงานจำนวนกว่า 80 สถานประกอบการ เพื่อให้รู้จักและทราบถึงการบริการของกระทรวงการอุดมศึกษาฯ ผ่านแนวทางคูปองวิทย์
เพื่อโอทอป ความสำคัญของมาตรฐานสินค้า และแนวทางการยกระดับโอทอปด้วย วทน. ในรูปแบบของการบรรยายและการเสวนา จากวิทยากรของกระทรวงการอุดมศึกษาฯ/ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด/ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด และการให้คำปรึกษาเพื่อแก้ปัญหาและพัฒนาโอทอป จากเจ้าหน้าที่กระทรวงการอุดมศึกษาฯ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องใน จ.สมุทรสงคราม และที่ปรึกษาจากสถาบันการศึกษา ในเรื่อง “ยกระดับ OTOP วทน. อย่างไร” โดยมีหัวข้อ ดังนี้

1. การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ โดย วิทยากรจาก สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย

2. มาตรฐานผลิตภัณฑ์ (อย.มผช.) โดยวิทยากรจาก สาธารณสุขจังหวัด (อย.) และอุตสาหกรรมจังหวัด (มผช.)

3. เทคโนโลยีที่เหมาะสม (Show case) โดยวิทยากรจาก อว. หรือสถาบันการศึกษาที่เป็นเครือข่าย หรือผู้ประกอบการที่ได้รับบริการ

4. การพัฒนาผลิตภัณฑ์โอทอปให้ได้มาตรฐาน โดย วิทยากรจาก กรมวิทยาศาสตร์บริการ

          พร้อมทั้งการเปิดรับสมัครผู้ประกอบการที่มีความประสงค์จะเข้าร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้วย วทน. และมีการแสดงนิทรรศการตัวอย่าง การใช้ วทน. พัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน/โอทอป การบริการด้านวิชาการและการให้บริการด้านสินเชื่อและการเงินจากธนาคารต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการที่เข้าร่วม อีกด้วย

 3,556 total views,  2 views today

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *