รองนายกฯ สมคิด กำชับ อว. และ CEA ร่วมสร้างเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรและการท่องเที่ยว

สวทช. คว้า 3 รางวัลในงานมอบรางวัลทุนหมุนเวียนดีเด่น ปี 62
อว. จัดพิธีประกาศกิตติคุณผู้เกษียณอายุ ประจำปี 2562

วันที่ 23 กันยายน 2562 ณ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) / ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (รมว.อว.) เข้าร่วมการประชุม “ทิศทางการขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์” โดยมี ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ซึ่งในที่ประชุมฯ ประกอบด้วยคณะกรรมการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ สถาบันอุดมศึกษา และผู้แทนจากภาคอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ร่วมกันระดมความคิดเห็นและนำเสนอแนวทางการพัฒนาบุคลากรสร้างสรรค์ให้ก้าวทันกับโลกยุคใหม่ เพื่อยกระดับผู้ประกอบการไทยให้สามารถนำความคิดสร้างสรรค์ไปใช้ในการเสริมสร้างศักยภาพในการแข่งขัน และนำเศรษฐกิจสร้างสรรค์เชื่อมโยงสู่ระดับเศรษฐกิจฐานราก สร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจเช่นเดียวกับหลายประเทศที่ให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าว เช่น ประเทศเกาหลีใต้ ที่ใช้แนวคิด Creative Korea ในการส่งออกเนื้อหาและการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ที่เป็นการผสมผสานกันระหว่างวัฒนธรรมดั้งเดิมและวัฒนธรรมร่วมสมัย รวมถึงการพัฒนาด้านนวัตกรรม วิทยาศาสตร์และดิจิทัลเทคโนโลยี สร้างมูลค่าเพิ่มและขยายการเข้าถึงสินค้าและบริการ

ดร.สมคิด รองนายกรัฐมนตรี ได้กำชับให้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมกับ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ในการนำองค์ความรู้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม หรืองานวิจัยที่มีอยู่ สร้างเครือข่ายให้เกิดขึ้นในระดับชุมชน เพื่อให้เกิดการสร้างมูลค่าเพิ่มในภาคการเกษตร และสร้างเครือข่ายท่องเที่ยวชุมชนให้เกิดการกระจายรายได้ในทุกภูมิภาค รวมถึงสร้างเกษตรกรต้นแบบหรือชุมชนต้นแบบด้านการท่องเที่ยว เพื่อให้เป็นตัวอย่างและสร้างแรงกระตุ้นให้ทุกภาคส่วนเห็นถึงความสำคัญเกี่ยวกับการปรับตัวรองรับการเปลี่ยนผ่านสู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม

ปัจจุบัน ประเทศไทยมีสินค้าและบริการสร้างสรรค์ที่มีศักยภาพโดดเด่นและหลากหลาย เช่น ภาพยนตร์ ละครแฟชั่น โฆษณาฯ และมีแนวโน้มที่จะขยายตัวสู่ต่างประเทศมากขึ้น ซึ่งหากเกิดการส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมสร้างสรรค์อย่างเป็นระบบ พร้อมทั้งเชื่อมโยงมาสู่ภาคการศึกษา ภาคการท่องเที่ยว ภาคการเกษตร และภาคบริการอื่น ๆ ย่อมจะนำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศไทยอย่างยั่งยืน โดยในปี 2560 มูลค่าอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ 15 สาขาของประเทศไทย คิดเป็น ร้อยละ 9.1 ของ GDP หรือ 1.4 ล้านล้านบาท (จาก GDP 15.451 ล้านล้านบาท) และมีอัตราการขยายตัวต่อเนื่อง ร้อยละ 5.61 ต่อปี นับจากปี 2553-2560 ซึ่งสูงกว่าอัตราการขยายตัวเฉลี่ยของ GDP ภาพรวม ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 5.24 อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (Creative Industries) 15 สาขาของประเทศไทย ประกอบด้วย (1) งานฝีมือ และหัตถกรรม (2) ดนตรี (3) ศิลปะการแสดง (4) ทัศนศิลป์(5) ภาพยนตร์ (6) การแพร่ภาพและกระจายเสียง (7) การพิมพ์ (8) ซอฟต์แวร์ (9) การโฆษณา (10) การออกแบบ(11) การให้บริการด้านสถาปัตยกรรม (12) แฟชั่น (13) อาหารไทย (14) การแพทย์แผนไทย และ (15) การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม

จากความสำคัญของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ดังกล่าว การขับเคลื่อนที่เป็นรูปธรรมที่ผ่านมา คือ การจัดตั้งสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA ตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) พ.ศ.2561 โดย CEA มีบทบาทใน 2 ส่วนคือ ส่วนแรก การเป็นกลไกระดับหน่วยงานเพื่อขับเคลื่อนภารกิจ 3 ด้าน คือ (1) การพัฒนาบุคลากรสร้างสรรค์ Creative People (2) การส่งเสริมขีดความสามารถของธุรกิจสร้างสรรค์ Creative Business และ (3) การพัฒนาพื้นที่สร้างสรรค์ Creative Place ส่วนที่สอง คือ ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการนโยบายส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นคณะกรรมการระดับชาติ โดยมีรองนายกรัฐมนตรี (ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์) เป็นประธาน

กรรมการฯ ในส่วนนี้ CEA จะเป็นผู้ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ภายใต้ (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ระยะที่ 1 (พ.ศ.2562 – 2566) เพื่อบรรลุเป้าหมายการผลักดันให้มูลค่าอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ เติบโตไม่น้อยกว่า ร้อยละ 5 ของ GDP และการส่งเสริมให้เกิดเมืองสร้างสรรค์ (Creative City) ให้เพิ่มขึ้น เพื่อเป็นจุดหมายของการท่องเที่ยวการลงทุนและดำเนินธุรกิจของประเทศ

CEA ยังได้ร่วมมือกับกรุงเทพมหานคร ในการเสนอกรุงเทพมหานครเป็น “เมืองสร้างสรรค์แห่งการออกแบบ (Creative City of Design) ในเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ขององค์การยูเนสโก (UNESCO Creative Cities Network)” โดยได้รับคัดเลือกเข้าสู่รอบสุดท้าย และอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการยูเนสโก ณ กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส และคาดว่าจะประกาศผลในช่วงเดือนตุลาคม –พฤศจิกายน 2562

ในเดือนธันวาคม 2562 และเดือนกุมภาพันธ์ 2563 CEA จะจัดเทศกาลงานออกแบบ ณ จังหวัดเชียงใหม่ และกรุงเทพฯ เพื่อให้เกิดเป็นแพลตฟอร์มทางธุรกิจที่เข้มแข็งและสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของการจัดงานเทศกาลด้านความคิดสร้างสรรค์ในระดับสากล และในส่วนปี 2563 CEA จะเปิดTCDC สาขาขอนแก่นเพื่อเป็นแหล่งบ่มเพาะธุรกิจสร้างสรรค์ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมถึงภารกิจในปีต่อ ๆ ไปของ CEA ยังมุ่งมั่นดำเนินงานและประสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วนเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยมีแผนที่

จะส่งเสริมให้เกิด 4 ย่าน เศรษฐกิจสร้างสรรค์ใน 4 เมืองหลัก (กรุงเทพ เชียงใหม่ ขอนแก่น ภูเก็ต) และย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในจังหวัดเมืองรอง พร้อมขยายแหล่งบ่มเพาะธุรกิจสร้างสรรค์ไปยังสถาบันการศึกษาในส่วนภูมิภาคเพิ่มเติม รวมถึงจัดตั้ง TCDC สาขาภาคใต้ ในอนาคต

 1,558 total views,  1 views today

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *