‘มิวเทอร์ม เฟสเซนซ์’ เครื่องวัดอุณหภูมิอัจฉริยะ (ΜTHERM FACESENSE)

ดร.สุวิทย์ และคณะผู้บริหารกระทรวง อว. ร่วมบันทึกเทปถวายพระพรแด่สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดาฯ พระบรมราชินี เนื่องในโอกาสวันมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 3 มิถุนายน 2563
วว. ขับเคลื่อนโครงสร้างพื้นฐานศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีการเพิ่มผลผลิตภาพ / มูลค่าพืชไร่ชุมชน (สับปะรด) จ.ประจวบคีรีขันธ์ บ่มเพาะผู้ประกอบการด้วย วทน. เสริมแกร่งเศรษฐกิจ ขยายตลาดการส่งออกหลังวิกฤตโควิด-19

          ‘ไข้สูง’ คือหนึ่งในอาการสำคัญของผู้ติดเชื้อก่อโรคโควิด-19 ที่ถูกนำมาใช้เป็นปัจจัยในการตรวจคัดกรองเบื้องต้นในแทบทุกพื้นที่ โดยผู้ที่มีอุณหภูมิร่างกายสูงกว่า 37.5 องศาเซลเซียส ถือเป็นผู้มีความเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวัง และได้รับการสอบสวนโรคเพิ่มเติมเกี่ยวกับอาการต่าง ๆ เช่น ไอ เจ็บคอ เหนื่อยหอบ รวมถึงมีความเสี่ยงสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยโควิด-19 หรือไม่ ทำให้อุปกรณ์ตรวจวัดอุณหภูมิของร่างกายที่ได้มาตรฐานมีความสำคัญและจำเป็นอย่างมาก

  ปัจจุบันในสถานที่ที่มีผู้คนพลุกพล่านจะมีจุดคัดกรองเบื้องต้นเพื่อตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย ซึ่งมีการใช้เครื่องวัดอุณหภูมิหลากหลายรูปแบบ เช่น เครื่องอินฟาเรดเทอร์โมมิเตอร์แบบยิงหน้าผาก ที่มีความแม่นยำค่อนข้างสูงและราคาถูก แต่ตรวจวัดได้ครั้งละหนึ่งคนเท่านั้น ทำให้การแปรผลล่าช้า และไม่สามารถรักษาระยะห่างกับผู้เข้ารับการตรวจคัดกรองได้มากนัก จึงมีความเสี่ยงในการแพร่เชื้อสู่บุคคลที่ทำการตรวจวัด ขณะที่กล้องถ่ายภาพความร้อน (Thermal Imaging Camera) ที่ใช้ ณ ท่าอากาศยาน ห้างสรรพสินค้าใหญ่ๆ แม้ว่าจะสามารถวัดอุณหภูมิได้หลายคนพร้อมกันและมีความแม่นยำค่อนข้างดี แต่มีราคาสูง

          ล่าสุด ทีมวิจัยเทคโนโลยีโฟโทนิกส์ กลุ่มวิจัยอุปกรณ์สเปกโทรสโกปีและเซนเซอร์ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้พัฒนา ‘มิวเทอร์ม เฟสเซนซ์’ (μTherm FaceSense)หรือ ‘เครื่องวัดอุณหภูมิอัจฉริยะ’ เพื่อใช้เป็นอุปกรณ์ตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย สำหรับคัดกรองอาการบ่งชี้การติดเชื้อโรคโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 ดร.ศรัณย์ สัมฤทธิ์เดชขจร รักษาการรองผู้อำนวยการเนคเทค สวทช. กล่าวว่า ‘มิวเทอร์ม-เฟสเซนซ์’ รุ่นใหม่ล่าสุดนี้ได้พัฒนาต่อยอดจากทรัพย์สินทางปัญญาเดิมของทีมวิจัย ผนวกกับระบบคัดกรองอุณหภูมิบุคคลโดยไม่สัมผัส โดยสามารถจับตำแหน่งของบุคคลแบบอัตโนมัติ (Automatic Human Detection) และวัดอุณหภูมิร่างกายผ่านการสแกนใบหน้าครั้งละหลายคนแบบอัตโนมัติได้อย่างแม่นยำในครั้งเดียว ที่สำคัญอุปกรณ์มีการเชื่อมต่อกับระบบการสื่อสารและเชื่อมโยงข้อมูลผ่านระบบ IoT ภายใต้การสนับสนุนจาก กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.)

มิวเทอร์ม เฟสเซนซ์ สามารถตรวจวัดอุณหภูมิจากใบหน้าบุคคลระยะห่างสูงสุดถึง 1.5 เมตร ภายในเวลา 0.1 วินาที

          “โดยค่าอุณหภูมิจะแสดงเป็นตัวเลขบนจอ หากอุณหภูมิเกินค่าที่กำหนดตัวเลขจะเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีแดงและส่งเสียงเตือน โดยเทคโนโลยีนี้ใช้การตรวจจับคลื่นความร้อนจากวัตถุสู่ตัวกล้อง ดังนั้นสถานที่ที่เหมาะสมกับการติดตั้งใช้งานควรเป็นสถานที่ที่สภาพแปรปรวนของอากาศไม่มากเกินไปตามข้อแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO) โดยระบบนี้สามารถตั้งค่าชดเชยอุณหภูมิ (Offset Temperature) และระยะการตรวจวัดที่เปลี่ยนไป ซึ่งเป็นสิทธิบัตรของทีมวิจัยโฟโทนิกส์ เนคเทค สวทช. โดยสามารถชดเชยผลจากอุณหภูมิ ความชื้น และระยะห่างของบุคคลเพื่อให้ได้มาซึ่งค่าอุณหภูมิที่แม่นยำที่สุด” ดร.ศรัณย์ อธิบาย

          มิวเทอร์ม เฟสเซนซ์ ไม่เพียงมีจุดเด่นในการตรวจวัดอุณหภูมิแบบไร้การสัมผัสแล้ว อุปกรณ์นี้ยังใช้เทคโนโลยีการสแกนใบหน้า ซึ่งแม้ว่าประชาชนที่เดินผ่านจุดคัดกรองจะสวมใส่หน้ากาก ก็สามารถตรวจวัดอุณหภูมิได้อย่างเที่ยงตรง

ดร.ชาลี วรกุลพิพัฒน์ ทีมวิจัยความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศ (SEC) เนคเทค สวทช. ให้ข้อมูลว่า มิวเทอร์ม เฟสเซนซ์ มีฟังก์ชันการตรวจจับใบหน้าบุคคล (Face Detection) จึงทำให้ระบบทำการวัดอุณหภูมิจากบุคคลจริงๆ ไม่ใช่อุณหภูมิทั่วไป ที่สำคัญวิธีการสแกนใบหน้าบุคคลยังช่วยให้ตรวจวัดอุณหภูมิได้ครั้งละหลายคน เพื่อลดระยะเวลาการตรวจวัด และเป็นการช่วยลดความเสี่ยงจากความใกล้ชิดของเจ้าหน้าที่และผู้รับการตรวจคัดกรองอีกด้วย

          “เมื่อก่อนทีมวิจัยพัฒนาการตรวจจับแบบเต็มใบหน้า แต่ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ประชาชนมีความจำเป็นต้องใส่หน้ากากอนามัย เราจึงพัฒนาระบบที่สามารถตรวจจับใบหน้าได้แม้ใส่หน้ากากอนามัย ไม่ว่าจะเป็นหน้ากากอนามัยแบบผ้า หน้ากากอนามัยทางการแพทย์แบบใช้แล้วทิ้ง ไปจนถึงหน้ากาก N95 นอกจากนี้ทีมวิจัยยังสามารถพัฒนาต่อยอดฟังก์ชันนี้ในสถานการณ์ด้านความมั่นคงในอนาคตได้อีกด้วย”

สำหรับการนำ มิวเทอร์ม เฟสเซนซ์ ไปใช้งาน อาโมทย์ สมบูรณ์แก้ว ทีมวิจัยอุปกรณ์สเปกโทรสโกปีและเซนเซอร์ (SSDRG) เนคเทค สวทช. อธิบายเสริมว่า ระบบนี้ติดตั้งใช้งานง่ายเพียงนำตัวเครื่องไปเชื่อมต่อกับจอแสดงผลผ่าน HDMI โดยทีมวิจัยได้ออกแบบระบบบันทึกข้อมูลวิเคราะห์และประมวลผลภายในตัวเครื่อง สามารถเชื่อมต่อและส่งข้อมูลผ่านระบบอินเทอร์เน็ตได้ ไม่ว่าจะเป็นสาย LAN เครือข่าย 3G/4G หรือ Wi-Fi โดยในอนาคตอันใกล้ข้อมูลอุณหภูมิและภาพใบหน้าดังกล่าวจะถูกบันทึกในเซิร์ฟเวอร์หน่วยงานเจ้าของสถานที่ หรือ บุคคลที่ได้รับอนุญาตจะสามารถตรวจสอบข้อมูลการตรวจวัด ผ่าน Dashboard เว็บเซิร์ฟเวอร์ หรือ แอปพลิเคชันได้ เพื่อนำไปสู่การป้องกันการเพิ่มจำนวนของผู้ติดเชื้อและการติดตามการระบาดของโรคแบบเรียลไทม์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานที่ที่มีคนจำนวนมากหรือแออัด รวมถึงสถานที่เสี่ยงต่อการแพร่กระจายของเชื้อโรค เช่น โรงพยาบาล ห้างสรรพสินค้า อาคารสำนักงาน โรงงาน เป็นต้น

          นอกจากนั้นแล้วข้อมูลที่ถูกบันทึกไว้ยังสามารถใช้เป็นฐานข้อมูลอ้างอิง เฝ้าระวัง เพื่อกำหนดมาตรการลดการแพร่กระจายของโรคติดต่อหรือการสูญเสียที่เกี่ยวข้องกับภาวะการเสียสมดุลของอุณหภูมิร่างกาย รวมถึงสามารถนำข้อมูลไปศึกษาวิจัยด้านระบาดวิทยาได้อีกด้วย

          ปัจจุบัน ‘มิวเทอร์ม-เฟสเซนซ์’ ได้นำไปใช้ทดสอบตรวจวัดอุณหภูมิในจุดคัดกรองเบื้องต้นที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติแล้วมากกว่าพันคน โดยขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการทดสอบเพิ่มเติมตามเกณฑ์การทดสอบขั้นพื้นฐาน เพื่อเตรียมความพร้อมลงสนามใช้จริง 40 เครื่อง โดยจะกระจายไปยังหน่วยงานที่มีความเสี่ยงภายในเดือนพฤษภาคมนี้ ซึ่งการมีอุปกรณ์ตรวจวัดอุณหภูมิของร่างกายที่ได้มาตรฐาน เที่ยงตรง ย่อมทำให้การตรวจคัดกรอง เพื่อสกัดกั้นการระบาดของโรคโควิด-19 มีประสิทธิภาพสูงสุด

 1,568 total views,  1 views today

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *