ดร.สุวิทย์ ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้า “โครงการ อว.สร้างงาน” ณ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)

มาตรวิทยา ยกระดับหุ่นยนต์เครื่องต้นแบบ (UV ROBOT) ฆ่าเชื้อโควิด-19
กองทุนยุวสตาร์ทอัพ เดินหน้าเฟ้นหาผู้ประกอบการหน้าใหม่ ให้ทุนสูงสุด 1.5 ล้านบาท ภายใต้โปรแกรม “การเริ่มต้นสร้างธุรกิจนวัตกรรม (PRE-SEED)”

“สุวิทย์ เมษินทรีย์” รมว.การอุดมศึกษาฯ ติดตามความก้าวหน้า “โครงการ อว.สร้างงาน” จ้างคนตกงานจาก COVID-19 ที่สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) 1 ใน 42 หน่วยงานของ อว. ที่ร่วมโครงการฯ พร้อมพบปะให้กำลังใจผู้ได้รับการจ้างงานกลุ่มแรก เตรียมส่งลงพื้นที่ลุยงานร่วมนักวิจัยใน 7 จังหวัดกระจายทุกภูมิภาค เพื่อเรียนรู้ประสบการณ์จากผู้เชี่ยวชาญ บ่มเพาะทักษะรอบด้าน หนุนต่อยอดสู่อาชีพใหม่หรือเป็นผู้ประกอบการสตาร์ทอัพในอนาคต

          วันนี้ (15 พฤษภาคม 2563) ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (รมว.อว.) ได้ลงพื้นที่เพื่อติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงาน “โครงการ อว.จ้างงาน” ที่สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) เทคโนธานี ต.คลองห้า อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี  ซึ่งนับเป็น 1 ใน 42 หน่วยงานของ อว. ที่ร่วมโครงการจ้างงานประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 พร้อมร่วมประชุมกับผู้บริหาร วว. เพื่อมอบนโยบายการดำเนินงานและขับเคลื่อนการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ นอกจากนี้ ยังได้พบปะและให้กำลังใจผู้ได้รับการจ้างงานกลุ่มแรกจาก วว. ซึ่งจะได้ลงพื้นที่ทำงานร่วมกับนักวิจัยใน 7 จังหวัดกระจายไปทุกภูมิภาคของประเทศ

จากนั้น ดร.สุวิทย์ ได้ให้สัมภาษณ์ว่า วว. ถือเป็นหน่วยงานที่เป็นกำลังหลักของ อว. ในการขับเคลื่อนการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ รวมถึงถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมสู่อุตสาหกรรม วิสาหกิจชุมชนและผู้ประกอบการไทย สำหรับ “โครงการ อว.จ้างงาน” ในส่วนของ วว. จะเป็นหน่วยที่สนับสนุนด้านการพัฒนาศักยภาพบุคลากรรุ่นใหม่ เพื่อพัฒนาเป็นผู้ประกอบการ SME และ OTOP เน้นการส่งเสริมและเพิ่มพูนทักษะต่าง ๆ ครอบคลุมในด้านการวางแผนการผลิต การใช้เครื่องมือในการผลิต การควบคุมการผลิต การตรวจสอบมาตรฐานและคุณภาพผลิตภัณฑ์ การวิเคราะห์ต้นทุนการผลิต โดยคนรุ่นใหม่เหล่านี้จะได้รับองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม จากผู้เชี่ยวชาญและมีการฝึกปฏิบัติงาน เช่น เทคโนโลยีการแปรรูปอาหารและผลไม้ เทคโนโลยีการจัดเก็บและยืดอายุผลไม้สด เทคโนโลยีด้านการสกัดสมุนไพร เป็นต้น ซึ่งผลจากการดำเนินงานนี้จะก่อให้เกิดผลในระยะสั้น คือ การสร้างงาน สร้างรายได้ ให้แก่ผู้ประสบภาวะวิกฤต COVID-19 ส่วนผลในระยะยาว เป็นการตอบโจทย์ประเทศ สร้างและเสริมทักษะแรงงานสมัยใหม่ ให้มีความพร้อมเพื่อสร้างธุรกิจ เป็นผู้ประกอบการรายย่อยในพื้นที่หรือเป็นผู้ประกอบการรายใหม่หลังจบวิกฤต COVID-19 

“การจ้างงานของ อว. ไม่เพียงแต่เพื่อสร้างงาน สร้างรายได้ แต่ผู้ที่ได้รับการจ้างงานจากเราทุกคนจะได้มากกว่านั้น คือ การได้เรียนรู้และเพิ่มพูนทักษะ เสริมศักยภาพของตนเอง โดยพวกเขาสามารถเรียนรู้ประสบการณ์ทำงานจริงจากนักวิจัยมากประสบการณ์ ได้เรียนรู้แนวปฏิบัติที่ดี ณ โครงสร้างพื้นฐานของ วว. ที่ทันสมัยและได้มาตรฐานสากลที่มีอยู่ถึง 7 แห่งทั่วทุกภูมิภาค นอกจากนั้นยังจะต้องมีการ Reskill – Upskill ในอีก 2 เรื่องที่ สำคัญก็คือ เรื่องของดิจิทัลและภาษาอังกฤษ เพื่อสามารถนำประสบการณ์จากการทำงานเหล่านั้นไปใช้ในการประกอบอาชีพใหม่ หรือนำความรู้ที่ได้ไปพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือทรัพยากรในท้องถิ่นของตนเอง ซึ่ง อว. พร้อมสนับสนุนให้พวกเขาก้าวไปสู่การเป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่อย่างสตาร์ทอัพ หรือ Local Startup ในอนาคตได้” รมว.อว. กล่าว

 ด้าน ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. กล่าวเพิ่มเติมว่า วว. รับมอบนโยบายและสนับสนุนการดำเนินงานโครงการ อว.สร้างงาน โดยได้เปิดรับบุคลากร รวมจำนวน 130 คน แบ่งเป็น 2 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 (ปลายเดือนเมษายน 2563) และระยะที่ 2 (ต้นเดือนพฤษภาคม 2563) ขณะนี้ได้ทำการคัดเลือกบุคลากรแล้ว และบางส่วนได้เริ่มเข้ามาปฏิบัติงาน ณ โครงสร้างพื้นฐาน วว. 7 แห่งทั่วภูมิภาค ได้แก่ โรงงานบริการนวัตกรรมอาหาร (FISP) ศูนย์นวัตกรรมผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์เพื่ออุตสาหกรรม (ICPIM) จังหวัดปทุมธานี ศูนย์การถ่ายทอดเทคโนโลยีการเพิ่มผลผลิตภาพและมูลค่าพืชไร่ชุมชน (สับปะรด) จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีการยืดอายุลำไยเพื่อการส่งออก จังหวัดลำพูน ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมอาหารจังหวัดแพร่ โรงงานสกัดระดับชุมชนและระบบเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ จังหวัดน่าน โรงงานบริการนวัตกรรมอาหาร จังหวัดระยอง โรงงานบริการนวัตกรรมอาหาร จังหวัดสงขลา โดยแต่ละพื้นที่ วว. ได้มอบหมายให้นักวิจัยที่มีประสบการณ์ ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงดูแลให้ความช่วยเหลือ และให้คำปรึกษาตลอดระยะเวลาในการปฏิบัติงาน

วว. พร้อมนำศักยภาพและประสบการณ์ด้านการวิจัยและพัฒนา การใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงการถ่ายทอดองค์ความรู้เชิงปฏิบัติการให้แก่บุคลากรรุ่นใหม่เหล่านี้ ได้เพิ่มพูนทักษะจากการฝึกปฏิบัติจริง และยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ วว. ได้เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้สร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่ประชาชนผู้ประสบภัยให้สามารถผ่านพ้นวิกฤต COVID-19 ครั้งนี้ไปได้” ผู้ว่าการ วว. กล่าวสรุป

นอกจากนี้ผู้ว่าการ วว. ยังได้กล่าวว่า รมว.อว. ได้มอบนโยบายให้ วว. ขยายโครงการรับบุคลากรในระยะที่ 3 เพิ่มเติมอีก จำนวน 200 อัตรา เพื่อให้ไปปฏิบัติงานด้าน Smart Farming และเทคโนโลยีการเกษตร ณ สถานีวิจัยลำตะคอง จังหวัดนครราชสีมา และเทคโนธานี ในอัตราเงินเดือน 9,000 บาทต่อคน ระยะเวลา 3 เดือน ซึ่งคาดว่าจะสามารถรับสมัครได้ปลายเดือนพฤษภาคม และเริ่มปฏิบัติงานได้ประมาณเดือน กรกฎาคม 2563 นี้ อย่างไรก็ตาม รมว.อว. ชี้ว่ากำลังจะทำเรื่องเสนอไปทางท่านนายกรัฐมนตรี เพื่อขยายจาก 9,000 ตำแหน่งงานที่มีอยู่นั้น ให้เพิ่มขึ้นเป็น 50,000 ตำแหน่ง สำหรับประชาชนทั่วไป ซึ่งอันนี้ยังไม่ได้รวมถึงโครงการ “ยุวชนสร้างชาติ ยุวชนอาสา และบัณฑิตอาสาอีกด้วย”

          อนึ่งภายหลังจากการประชุมฯ ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.อว.และคณะ ยังได้เยี่ยมชมการปฏิบัติงานจริง ด้านการแปรรูปอาหาร ณ โรงงานบริการนวัตกรรมอาหาร (FISP) ด้านการผลิตเชื้อจุลินทรีย์ ศูนย์นวัตกรรมผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์เพื่ออุตสาหกรรม (ICPIM) รวมทั้งการผลิตเห็ดเมืองร้อน การผลิตปุ๋ยอินทรีย์เคมี การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ (Tissue Culture) ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์

 1,727 total views,  1 views today

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *