MAKE or BUY ถึงเวลาประเทศไทยพึ่งตัวเองฝ่าวิกฤติ

(วันที่ 13 เมษายน 2563) Zoom Cloud Meeting สำนักส่งเสริมและและถ่ายทอดเทคโนโลยี นำโดย ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมและถ่ายทอดเทคโนโลยี สส. ทำหน้าที่เป็น Host ในการประชุม
(วันที่ 14 เมษายน 2563) Zoom Cloud Meeting สำนักส่งเสริมและและถ่ายทอดเทคโนโลยี โดยส่วนส่งเสริมการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยี (สพถ.) / กลุ่มงานพัฒนาเทคโนโลยีสู่ภาคการผลิตกลุ่มงานถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชน / ทำหน้าที่เป็น Host ในการประชุม

“สุวิทย์ เมษินทรีย์” ย้ำถึงเวลาประเทศไทยพึ่งตัวเองฝ่าวิกฤติ  COVID-19 เมื่อทุกประเทศเกิดการแย่งชิงเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ นาทีนี้ประเทศไทยต้องพึ่งพาตัวเองให้มากที่สุดโดยจะต้องปรับระบบความคิดว่าจะเลือก MAKE or BUY โดยจะผลิตเอง หรือเป็นเพียงผู้ซื้อ

เมื่อทั่วโลกเข้าสู่วิกฤติ COVID-19 ทุกประเทศเกิดการแย่งชิงเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ โดยจากการรายงานของสื่อต่างประเทศพบว่า สหรัฐใช้นโยบาย American First เข้มข้นขึ้น โดยสั่งห้ามบริษัทในสหรัฐส่งออกหน้ากากอนามัย N95 ไปยังต่างประเทศ แถมยังเกิดเหตุการณ์แย่งชิงหน้ากากอนามัย รวมทั้งเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ต่างๆ ทั่วโลก โดยโฆษกองค์การอนามัยโลก กล่าวว่า ภาวะขาดแคลนอุปกรณ์ป้องกันทั่วโลกนับเป็นภัยคุกคามเร่งด่วนที่สุดอย่างหนึ่งต่อความสามารถของนานาชาติที่จะรักษาชีวิตของผู้คน โดยหลังจากเหตุการณ์ระบาดผ่านไปเพียง 3 เดือน พบว่าจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทั่วโลกคาดว่ามีจำนวนมากกว่า 1.5 ล้านคนแล้ว ขณะยอดผู้เสียชีวิตรวมพุ่งมาอยู่ที่กว่า 8.5 หมื่นคน

เกลี่ยงบ 3 พันล้านสนับสนุนงานวิจัยสู้โควิด

จากวิกฤติการณ์ดังกล่าว ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า เหตุการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า นาทีนี้ประเทศไทยต้องพึ่งพาตัวเองให้มากที่สุดเพื่อที่จะนำพาประเทศในการฝ่าวิกฤติครั้งนี้ โดยจะต้องปรับระบบความคิดว่าเราจะเลือก MAKE or BUY โดยจะเป็นผู้ผลิตเอง หรือเป็นเพียงผู้ซื้อเท่านั้น 

ล่าสุดกระทรวง อว. ได้มีการเกลี่ยงบประมาณภายในกระทรวงใหม่ทั้งหมด โดยได้มีการจัดสรรงบประมาณกว่า 3,000 ล้านบาท เดินหน้าสนับสนุนงานวิจัยและการผลิตเวชภัณฑ์ ที่ถูกคิดค้นขึ้นมาในช่วงนี้ เพื่อนำไปต่อยอดในการใช้พัฒนาแก้ไขปัญหาการขาดแคลนเวชภัณฑ์และการเตรียมพร้อมของโรงพยาบาลในการรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-1 เพื่อปลดล็อคปัญหาด้านอุปกรณ์ทางการแพทย์และอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลของบุคลากรทางการแพทย์ที่ไม่เพียงพอ โดยจะเป็นการทำงานบนพื้นฐานการเตรียมพร้อมในสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด

ผลิตและส่งมอบแล้วชุดตรวจโควิดแสนชิ้นให้รพ.100 แห่ง เม.ย.นี้ 

อย่างไรก็ดี สำหรับในส่วนของนวัตกรรมที่กระทรวง อว.คิดค้นและผลิตสำเร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้วคือ ชุดตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 ด้วยวิธีRT-PCR ซึ่งเป็นวิธีการตรวจที่เป็นมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก ซึ่ง อว. โดยมหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ วิจัยและพัฒนาและผลิตชุดตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยล่าสุดได้มีการส่งมอบไปแล้ว 20,000 ชุดให้กับรัฐบาล และจะทยอยส่งมอบทุกๆ สัปดาห์จนครบ 100,000 ชุดภายในเดือน เม.ย.นี้ โดยมีเป้าหมายจะผลิตให้ครบ 1 ล้านชุด ภายในระยะเวลา 6 เดือน 

ทั้งนี้ เพื่อให้รัฐบาลนำไปแจกจ่ายให้ใช้ฟรีตามโรงพยาบาลและห้องปฏิบัติการที่มีเครื่องตรวจทั่วประเทศกว่า 100 แห่ง ล่าสุด สามารถผลิตและส่งมอบชุดตรวจฯ 20,000 ชุดแรกให้แก่รัฐบาล และจะทยอยส่งมอบทุกๆ สัปดาห์จนครบ 100,000 ชุดภายในเดือน เม.ย.นี้ พร้อมยังคงเดินหน้าผลิตอย่างต่อเนื่องจนครบตามเป้าหมายภายใน 6 เดือน นอกจากนี้ยังมีการสนับสนุนการพัฒนาชุดตรวจแบบ LAMP ที่ให้ผลตรวจรวดเร็วขึ้นจำนวน 3 โครงการ จะเริ่มผลิตชุดตรวจออกมาใช้จริงในเดือนเมษายน 2563 เพื่อสนับสนุน/ทดแทน ชุดตรวจแบบ RT-PCR พร้อมทั้งการพัฒนาชุดตรวจแบบ CRISPR-cas ซึ่งใช้เวลาในการตรวจสั้นลง โดยขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างการทดสอบประสิทธิภาพ

วชิรพยาบาลชู 4 นวัตกรรมกู้วิกฤติระดมแพทย์-วิศวฯจับมือพัฒนาร่วมกัน

ขณะเดียวกัน ยังได้สั่งการให้ตั้งคณะทำงานรับมือกับสถานการณ์โรคโควิด-19 ซึ่งจะรวบรวมนวัตกรรมทั้งหมดของ อว. พร้อมทั้งเชื่อมโยงการทำงานในรูปแบบจตุภาคี ระหว่างคณะแพทยศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาคเอกชน/อุตสาหกรรมและ อว. ในการพัฒนาและผลิตด้านเวชภัณฑ์และอุปกรณ์ทางการแพทย์โดยเฉพาะสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความเสี่ยงสูง

ทั้งนี้สำหรับหน่วยงานวิจัยของคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล ขณะนี้ได้มีการคิดค้น 4 นวัตกรรมโดยได้มีการผลิตออกมาใช้งานเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ประกอบด้วย นวัตกรรมแรก คือ เตียงเคลื่อนย้ายผู้ป่วยแรงดันลบ ที่ปรับมาจากห้องปลอดเชื้อที่ใช้กับคนไข้วัณโรค ปัจจุบันผลิตออกมาแล้ว 11 ตัว ใช้ที่โรงพยาบาลวชิรพยาบาล 2 ตัว และแจกจ่ายให้กับโรงพยาบาลอื่น ต้นทุนประมาณ 1 แสนกว่าบาท พร้อมเตรียมต่อยอดนำนวัตกรรมโดยจับมือกับบริษัท ปตท. และฮอนด้า ในการนำต้นแบบเตียงเคลื่อนย้ายผู้ป่วยแรงดันลบ ไปผลิตต่อ  โดยขณะนี้ ปตท. สามารถผลิตกล่อง  HEPA Filter ได้เอง ทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง รวมถึงอาจมีการปรับเปลี่ยนวัสดุ ซึ่งหากตรวจสอบแล้วสามารถผ่านมาตรฐานวิศวกรรมสถาน ก็ถือว่าใช้งานได้คาดว่าจะใช้เวลาการผลิตราว 2 เดือน ในการผลิตเตียงเคลื่อนย้ายผู้ป่วยแรงดันลบ ออกมาใช้งานได้ถึง 200  ตัว ก็คาดว่าจะเพียงพอต่อการใช้งานทั้งประเทศ 

นวัตกรรมที่ 2  หมวกปรับแรงดันบวกสำหรับบุคลากรทางแพทย์ (Powered Air-Purifying Respirator – PAPR) อุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ใช้สวมใส่เพื่อการต่อท่อหายใจให้กับคนไข้ติดเชื้อรุนแรงที่ต้องซื้อจากต่างประเทศ ราคาราว 5 หมื่นบาท แต่คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล สามารถผลิตได้ด้วยงบประมาณเพียง 2 พันบาท มีจุดต่างเพียงแค่วัสดุคลุมหมวกที่เป็นผ้าใบ แต่คุณภาพการใช้งานไม่ต่างกัน เบื้องต้นสามารถผลิตได้ 300-500 ตัว คาดว่ามีความต้องการใช้ 20 ตัวต่อหนึ่งโรงพยาบาล รวมความต้องการอยู่ในราว 1,000 ตัว  โดยหากมีการร่วมมือในการผลิตจะใช้เวลาเพียง 1 เดือน  ก็สามารถรองรับความต้องการใช้ได้ทั้งหมด 

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีหลายๆ โรงพยาบาลเริ่มผลิตหลังจากคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาลเปิดตัวนวัตกรรมนี้ออกไป นอกจากนี้ล่าสุดทีมวิจัยและนวัตกรรมของบริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และเครือข่ายวิชาการได้พัฒนาและส่งมอบระบบพัดลมปลอดเชื้อคุณภาพสูง (DC Fan) จำนวน 10,500 เครื่อง ซึ่งเป็นอุปกรณ์สำคัญของชุดปลอดเชื้อความดันบวกและหมวกปรับแรงดันบวกสำหรับบุคลากรทางแพทย์ เพื่อนำไปประกอบการผลิตชุดปลอดเชื้อและหน้ากากป้องกันเชื้อโรคความดันบวกให้บุคลากรทางการแพทย์ต่อไป

นวัตกรรมที่ 3  หน้ากากอนามัยไส้กรอง N99 หล่อหน้ากากซิลิโคนที่สามารถผลิตได้เองในประเทศไทยต่อเข้ากับ HEPA Filter ของเครื่องช่วยหายใจ  ยึดติดให้แนบหน้าด้วยยาง 2 เส้นเช่นเดียวกับหน้ากาก N95  โดยมีต้นทุนในการหล่อหน้ากากซิลิโคนเพียง 100-200 บาท  ขณะที่ HEPA Filter ปัจจุบันยังต้องนำเข้าแต่อนาคตประเทศจะสามารถผลิตได้เอง ก็จะทำให้ต้นทุนรวมลดต่ำลง โดยหน้ากากอนามัยไส้กรอง N99 มีกำลังการผลิตราว 200 ชิ้นต่อวัน  คาดว่าภายในเวลา 1 สัปดาห์สามารถผลิตได้เพียงพอต่อการส่งมอบให้กับโรงพยาบาลที่มีผู้ป่วยโควิด -19 โดยเฉพาะกับโรงพยาบาลขนาดเล็กที่ยังขาดแคลน

นวัตกรรมที่ 4 ชุดป้องกันส่วนบุคคล PPE นวัตกรรมการผลิตชุดป้องกันจากเกรด 4 ขึ้นเป็นเกรด 5 หรือ Medical Grade เปลี่ยนวัสดุจากไฟเบอร์ซึ่งเป็นวัสดุที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ มาเป็นพลาสติกสปันบอนด์ที่เป็น  Polypropylene สามารถกันน้ำได้  โดยได้รับการทดสอบจากสถาบันบำราศนราดูรว่าสามารถใช้ได้ไม่ต่างจากชุดป้องกันเกรด 5  โดยต้นทุนของการผลิตชุดป้องกันส่วนบุคคลจะอยู่ในราวชุดละกว่า 100 บาท อย่างไรก็ตาม คณะแพทย์ศาสตร์วชิรพยาบาล ได้รับความร่วมมือกับ พีทีทีจีซี และไออาร์พีซี 2 บริษัทผู้ผลิตเม็ดพลาสติกรายใหญ่ของเมืองไทย สนับสนุนวัสดุพลาสติกในการผลิตชุดป้องกันส่วนบุคคล คาดว่าจะสามารถผลิตเบื้องต้นราว 500-2,000 ตัว   โดยมีความต้องการอยู่ราวแสนตัว อย่างไรก็ตาม ปัญหาของการผลิตชุดป้องกันส่วนบุคคลอีกส่วนสำคัญคือ การเย็บชุดที่ปัจจุบันโรงงานส่วนใหญ่ปิดกิจการก็อาจทำให้การผลิตล่าช้า ซึ่งทางกระทรวงได้ประสานงานกับทางสถาบันสิ่งทอเพื่อหาทางเร่งกำลังการผลิต

เตรียมเปิดมหาวิทยาลัย- 38 ราชภัฎเป็น รพ.สนาม พัฒนาแอพพลิเคชั่นรับมือในระยะยาว

ทั้งนี้ หากสถานการณ์แพร่ระบาดรุนแรงขึ้น กระทรวง อว. ยังได้เตรียมขยายผลในการเปิดโรงพยาบาลสนามไปทั่วประเทศ โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยในระดับภูมิภาค อาทิ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ รวมถึงมหาวิทยาลัยราชภัฎ 38 แห่งทั่วประเทศ โดยใช้โมเดลโรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ที่ได้เปิดตัวนำร่องไปก่อนแล้ว

ขณะที่ในของภาคประชาชนทั่วไป ก็ต้องเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ เพื่อลดความตื่นตระหนกของคนในสังคม และสร้างความเชื่อมั่น ทั้งในแง่การติดตามและตรวจสอบกลุ่มเสี่ยง การบริหารจัดการวัสดุอุปกรณ์รวมไปถึงสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต โดยอาศัยความร่วมมือจากพันธมิตรทุกภาคส่วนในการพัฒนาระบบ ซึ่งจะแบ่งการรับมือเป็น 4 ประเด็น ดังนี้ 

1. ระบบติดตามผู้ติดเชื้อเพื่อใช้ในการควบคุมโรคโดยโปรแกรม DDC-Care ร่วมมือระหว่างกรมควบคุมโรค สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง


2. ระบบ TeleHealth การแพทย์และสุขภาพทางไกลเพื่อช่วยคัดกรองโรคและวินิจฉัยเบื้องต้น ลดความจำเป็นของประชาชนในการมา รพ. และลดภาระงานของบุคลากรทางการแพทย์ โดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ร่วมกับภาคเอกชน           

3. ระบบ Logistics เพื่อบริหารจัดการความต้องการเวชภัณฑ์ที่มิใช่ยาระหว่างผู้ใช้คือโรงพยาบาล และแหล่งผลิตรวมทั้งผู้บริจาค โดยทำร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยมหิดล วช. และกระทรวงสาธารณสุข         

4. ระบบ MELB Platform เพื่อบริหารจัดการการบริจาคสิ่งของต่าง ๆ โดยศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS)

เปิดเกมรุก 4 งานวิจัยเร่งด่วน 

นอกจากนี้ ล่าสุดกระทรวง อว. โดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ยังได้ประกาศเปิดเกมรุกด้วยการเปิดรับข้อเสนอทุนวิจัยและนวัตกรรมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ตั้งแต่วันนี้ – 14 เมษายน นี้ เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนอุปกรณ์และเวชภัณฑ์ทางการแพทย์สำหรับการป้องกันและรักษา รวมทั้งสถานพยาบาลที่ใช้รองรับผู้ป่วย เพื่อเตรียมการรองรับวิกฤติ ที่อาจร้ายแรงขึ้นในอนาคต 


โดยทาง วช. จะเปิดรับข้อเสนอทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนาใน 4 เรื่องเร่งด่วน ได้แก่  1.การวิจัยและพัฒนาหน้ากากอนามัย N95 เพื่อใช้ทางการแพทย์  2. การวิจัยและพัฒนาชุดป้องกันส่วนบุคคลของบุคลากรทางการแพทย์ หรือ Personal Protective Equipment (PPE) เช่น เสื้อกาวน์ป้องกันการติดเชื้อ (Surgical gown) และชุดป้องกันร่างกาย (Safety coverall) และอื่นๆ  3. การวิจัยและพัฒนาเครื่องช่วยหายใจ (Ventilators/ Respirators)   4. การวิจัยและพัฒนาระบบห้องและการปรับอากาศแรงดันลบ (Negative-pressure Facilities) และโรงพยาบาลสนาม

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงเป็นตัวอย่างของความร่วมมือของทุกภาคส่วน ในการพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส เกิดการพัฒนาองค์ความรู้ นำทัพโดย “ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์” ที่ปรับกระบวนทัพใหม่ พร้อมเปิดเกมรุกสู้ศึกโควิด19 

 85,090 total views,  1 views today

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *