สวทช. จับมือร่วมกับ มจธ. และ มจพ. อบรมบรรจุภัณฑ์สำหรับ SME หนุนศักยภาพ สร้างกำไร รายได้เติบโต

ทีเซลส์ จับมือ มน. ขับเคลื่อน “โครงการยกระดับคุณภาพ ความปลอดภัย และประสิทธิผลของเครื่องสำอางระดับคลินิก”
เตรียบพบกับ “IGNITE PLUS” งานที่ยกระดับสินค้า OTOP สิ่งทอและอาหาร ให้ช้อป ชม ชิม อย่างจุใจ กับสินค้าภูมิปัญญาไทยจากทั่วประเทศ

 เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2563 ณ บางแสน จ.ชลบุรี : กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดย โปรแกรมสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP) ร่วมกับ ภาควิชาเทคโนโลยีการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ศูนย์วิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมระบบไซเบอร์-กายภาพทางการผลิต และสำนักวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) จัดสัมมนาหัวข้อ “บรรจุภัณฑ์สำหรับ SME: ไม่รู้ ไม่รอด” เพื่อให้ผู้ประกอบการ SME ในเขตจังหวัดชลบุรีและจังหวัดใกล้เคียงในเขตพื้นที่ EEC กว่า 100 ราย ได้รับความรู้และคำปรึกษาแนะนำในการพัฒนาระบบอุตสาหกรรมด้วยการพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรม และการผลิตบรรจุภัณฑ์รูปแบบต่างๆ ให้มีคุณสมบัติในการใช้งานที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการทางการตลาด และวิถีชีวิตของผู้บริโภคสมัยใหม่ พร้อมทั้งการลดต้นทุนบรรจุภัณฑ์ เพื่อการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด และแข่งขันได้ในตลาดโลก

2

          นางสาวชนากานต์ สันตยานนท์ ที่ปรึกษาอาวุโส โปรแกรม ITAP สวทช. กล่าวว่า งานสัมมนาครั้งนี้เป็นการส่งเสริมให้กับผู้ประกอบการ SME ในทุกระดับ ตั้งแต่ธุรกิจขนาดกลาง ขนาดเล็ก และธุรกิจรายย่อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อยที่เพิ่งเริ่มสร้างธุรกิจ ซึ่งประโยชน์ที่ผู้ประกอบการจะได้รับองค์ความรู้ทำให้ทราบถึงแนวโน้มสำหรับการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ในอนาคตจากวิทยากรที่มีความชำนาญทางด้านบรรจุภัณฑ์ รวมถึงได้รับความรู้ในส่วนของขั้นตอนการพัฒนาบรรจุภัณฑ์เพื่อนำไปปรับใช้กับธุรกิจที่มีอยู่ ทำให้สามารถปรับตัวอยู่รอดในกระแสโลกปัจจุบันที่อยู่ในภาวะเศรษฐกิจทั้งในประเทศและทั่วโลกที่เกิดการชะลอตัว และมีภาวะแข่งขันสูงมากได้

3
4

          “ในการยกระดับศักยภาพของผู้ประกอบการให้มีขีดความสามารถด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรมและสิ่งแวดล้อม มีความจำเป็นที่จะต้องส่งเสริมให้เกิดความรู้ด้านวัสดุบรรจุภัณฑ์ การออกแบบบรรจุภัณฑ์ เทคโนโลยีการออกแบบให้เหมาะสมกับสินค้าที่จะบรรจุ รวมทั้งการออกแบบเพื่อผลิตได้จริง โดยอาศัยความร่วมมือกันระหว่างภาควิชาเทคโนโลยีการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ฯ ศูนย์วิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมระบบไซเบอร์-กายภาพ ทางการผลิต และโปรแกรม ITAP สวทช. ภายใต้โครงการ “การยกระดับศักยภาพอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์และโซ่อุปทานด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม” ถือเป็นการบูรณาการโดยใช้กลไกความร่วมมือด้านการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ผ่านการมีส่วนร่วมของผู้ประกอบการในการพัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างก้าวกระโดด โดยมุ่งเน้นสร้าง “ห่วงโซ่คุณค่า” เพื่อให้สถานประกอบการมีเป้าหมายที่ชัดเจนในการพัฒนาคุณค่าของธุรกิจ และเพิ่มประสิทธิภาพสูงสุด ตอบสนองต่อการเพิ่มจุดแข็งด้านการแข่งขัน ยกระดับคุณภาพและเศรษฐกิจของผลิตภัณฑ์ ตอบโจทย์ประเทศไทยศตวรรษที่ 21 อย่างยั่งยืนต่อไป”

5
6

          ดร.นิทัศน์ ทิพยโสตนัยนา ภาควิชาเทคโนโลยีการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวว่า ความรู้ในครั้งนี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง สินค้าที่ผลิตล้วนต้องมีบรรจุภัณฑ์เพื่อการจัดจำหน่าย เนื่องจาก SME เป็นกลุ่มธุรกิจย่อยที่อยู่ในช่วงเริ่มสร้างธุรกิจ ซึ่งการลงทุนทางด้านบรรจุภัณฑ์ให้เสมือนกับธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีเงินลงทุนสูงจึงเป็นไปได้ยาก จึงมักใช้บรรจุภัณฑ์ที่มีราคาถูกแต่ไม่เหมาะกับสินค้า ทำให้เกิดการเสียหายได้ง่าย หรือเกิดการตีกลับของสินค้า ส่งผลต่อความเชื่อมั่นจากผู้บริโภค หรือการใช้บรรจุภัณฑ์มีคุณสมบัติที่ดีมากเกินไปจนส่งผลให้สินค้ามีราคาสูงไม่สามารถแข่งขันได้ การได้รับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้และประสบการณ์สูง จะช่วยแก้ปัญหาด้านบรรจุภัณฑ์ได้ ทำให้ผู้ประกอบการตั้งตัวได้เร็วขึ้น สามารถแข่งขันและผลักดันให้ธุรกิจอยู่ในตลาดปัจจุบันได้

7

          สำหรับงานนี้ได้ อาจารย์มยุรี ภาคลำเจียก ผู้เชี่ยวชาญด้านบรรจุภัณฑ์ มาร่วมถ่ายทอดความรู้ “ซึ่งผู้เข้าร่วมสัมมนาจะได้รับความรู้เรื่องบรรจุภัณฑ์ ตั้งแต่พื้นฐานของบรรจุภัณฑ์ บทบาทของบรรจุภัณฑ์ต่อธุรกิจสมัยใหม่ ประเภท สมบัติการใช้งาน ขั้นตอนในการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ ตลอดไปจนบรรจุภัณฑ์มาตรฐานสำหรับ SME ซึ่งประโยชน์ทางตรงที่ได้รับ คือ การวิเคราะห์ถึงบรรจุภัณฑ์ที่ตนเองใช้งานอยู่หรือต้องการจะพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่ใช้กับผลิตภัณฑ์ของตนเอง เพื่อเป็นการปรับปรุง วางแผน และประยุกต์นำไปใช้ให้ถูกต้องกับผลิตภัณฑ์ของตนเอง” ดร.นิทัศน์ ทิพยโสตนัยนา กล่าวเสริม

8
9

          ทั้งนี้ ได้รับการตอบรับจากผู้ประกอบการ SME ที่สนใจเข้าร่วมฟังบรรยายจากหลากหลายประเภทธุรกิจ ทั้งกลุ่มผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้า กลุ่มที่ต้องการบรรจุภัณฑ์ กลุ่มที่มีปัญหาทางด้านการผลิตหรือการใช้งานบรรจุภัณฑ์ กลุ่มผู้ประกอบการทางด้านการพิมพ์บรรจุภัณฑ์ รวมถึงกลุ่มผู้ประกอบการที่ต้องการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ในด้านการใช้งานและด้านสิ่งแวดล้อม จำนวนมากกว่า 100 ราย นอกเหนือจากการบรรยายเพื่อให้ความรู้แล้ว ITAP สวทช. ยังมีบริการการให้คำปรึกษาทั้งในเรื่องของการพัฒนาบรรจุภัณฑ์และด้านอื่น ๆ ให้กับผู้ประกอบการที่มาเข้าร่วมงานแบบเจาะลึกจากผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์อีกด้วย

10

          นางสาวณิชชา แก้วสุริยา ผู้บริหาร ณิชชาฟาร์ม จังหวัดชลบุรี หนึ่งในผู้ประกอบการที่เข้าร่วมสัมมนากล่าวว่า เนื่องจากตนเองทำธุรกิจแปรรูปแตงโมเป็นผลิตภัณฑ์จำพวกขนม และเครื่องสำอางค์ มีการส่งออกทั้งในและนอกประเทศ ซึ่งตอนนี้มีความกังวลว่าธุรกิจที่ทำอยู่กำลังประสบปัญหาในเรื่องการใช้บรรจุภัณฑ์ที่ไม่เหมาะสม ที่ผ่านมาได้เลือกบรรจุภัณฑ์ด้วยตนเองโดยที่ยังไม่มีความรู้ จึงเกิดความกังวลมากพอสมควรว่าบรรจุภัณฑ์ที่เลือกใช้จะส่งผลต่อตัวผลิตภัณฑ์โดยเฉพาะกลุ่มที่เป็นอาหาร ซึ่งอาจมีผลต่อสีและรสชาติได้ หรือ ผลิตภัณฑ์จำพวกเครื่องสำอางค์ที่หากเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ที่ไม่ถูกต้อง อาจเกิดการทำปฏิกิริยาระหว่างสารจากส่วนผสมของเครื่องสำอางค์กับตัวบรรจุภัณฑ์ จึงอยากแก้ปัญหานี้ โดยหลังจากที่ได้รับคำปรึกษาจากทีมผู้เชี่ยวชาญในวันนี้ ทำให้รู้จักชนิดของบรรจุภัณฑ์มากยิ่งขึ้น เริ่มมีความเข้าใจ และสามารถเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสมกับผลิตภัณฑ์แต่ละประเภทของตนเองได้อย่างถูกต้อง

 9,090 total views,  1 views today

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *